กทม. เร่งตรวจหาเชื้อโควิด-ขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอก รพ. ครบตามเป้า 25 แห่ง
ผู้ว่าฯกทม. เผยว่า เร่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย พร้อมเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอก รพ. ให้ครบตามเป้าหมาย 25 ทั่วกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวก ปชช. มาฉีดวัคซีนภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2564
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรณีพบการระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างย่านหลักสี่ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานครฯได้ทำการตรวจคัดกรองคนงานทั้งหมดในรอบแรกกว่า 1,600 คน เมื่อวันที่ 11-13 พฤษภาคม2564 พบติดเชื้อประมาณ 1,100 คน และนำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จากนั้นทีมแพทย์ได้ทำการสุ่มตรวจสายพันธุ์เชื้อโรคพบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย 15 คน โดยระหว่างนี้แพทย์ได้ทำการสุ่มตรวจการสายพันธุ์เพิ่มเติมว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียหรือสายพันธุ์อื่นๆ อีกหรือไม่ โดยผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล
ส่วนคนงานในแคมป์จะเหลือประมาณ 500 คน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการ ซึ่งจะมีการตรวจคัดกรอง (swab) กลุ่มนี้รอบที่ 2 ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ และทำการสอบสวนโรคในชุมชนรอบแคมป์ก่อสร้าง รวมทั้งคนงานในแคมป์ก่อสร้างอื่นๆ ในพื้นที่เขตหลักสี่ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ 7 ชุมชนรอบแคมป์ก่อสร้างซอยยายผลเข้ารับการฉีดวัคซีนในช่วงวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2564 ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) ให้ครบถ้วนหรือครอบคลุมมากที่สุด
นอกจากนี้ยังได้ตรวจคัดกรองหาเชื้อภายในตลาด พบว่ายังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ, ตลาดยอดพิมาน เขตพระนคร และตลาดศาลาน้ำร้อน เขตบางกอกน้อย เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด จึงประกาศปิดตลาดทั่ง 3 แห่งจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2564
สำหรับความคืบหน้าในการเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ล่าสุดที่บริเวณรอยัลพารากอนฮอล์ล ชั้น 5 สยามพารากอน ซึ่งเป็น 1 ใน 25 ที่มาจากความร่วมมือของกรุงเทพมหานครฯ หอการค้าไทย และโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยได้ทดสอบระบบการให้บริการวัคซีนตามขั้นตอน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกิดความปลอดภัย โดยตั้งเป้าการให้บริการฉีดวัคซีนจำนวน 1,000-3,000 คนต่อวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
ในการทดสอบระบบได้ทำการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง 1,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำนักอนามัยได้นำเข้าข้อมูลไว้ในระบบของกรุงเทพมหานครฯ อาทิ ผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ พนักงานเก็บค่าโดยสารสาธารณะ พนักงานเก็บขน พนักงานกวาดของสำนักงานเขต คนขับแท็กซี่ วินจักรยานยนต์ พนักงานขนส่งอาหารต่างๆ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก และบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น
ส่วนกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่นๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดไปตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร โดยทางกรุงเทพมหานครฯจะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ครบตามเป้าหมาย 25 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางมาฉีดวัคซีนภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2564