CK จ่อคว้า 2 สัญญารถไฟทางคู่ 4.7 หมื่นลบ. ลุยประมูลงานเพิ่ม ดัน Backlog แสนลบ.
CK เซ็นสัญญาอุโมงค์ประปา 5 พันลบ. จ่อคว้า 2 สัญญารถไฟทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย” มูลค่ารวม 4.7 หมื่นลบ. ลุยประมูลเพิ่ม ดัน Backlog แสนลบ.
บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า ในวันนี้ (24 พฤษภาคม 2564) บริษัทได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการอุโมงค์ส่งน้ำประปา สัญญาที่ G-TN-9D จากสถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ถึงสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร กับการประปานครหลวง (กปน.) มูลค่า 4,950 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โครงการนี้เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำประปาตามแนวถนนกาญจนาภิเษกและถนนทางรถไฟสายเก่า จากสถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ถึงสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง โดยใช้หัวขุดเจาะอุโมงค์ แบบ TBM มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี 4 เดือน
ทั้งนี้ถือเป็น 1 ใน 4 สัญญาที่กปน. ได้เปิดประมูลตามโครงการปรับปรุงกิจการประปานครหลวงแผนหลักครั้งที่ 9 เพื่อเชื่อมโยงการจ่ายน้ำประปาจากฝั่งตะวันตกไปผั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยบริษัทพร้อมเริ่มก่อสร้างทันที และมั่นใจว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผน เพราะมีความพร้อมและเป็นงานที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะทาง 323 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 2 และ 3 มูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท ด้วยวิธีเสนอราคาจัดซื้อจัดจ้างทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) ร่วมกับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ในนามกิจการร่วมค้า CKST โดยผลการเสนอราคาปรากฎว่า กิจการร่วมค้า CKST เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ด้วยราคา 26,900 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ด้วยราคา 19,390 ล้านบาท
สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟท. แจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารเทคนิค หลังจากนั้น รฟท.จะประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทใดเป็นผู้ได้รับงานสัญญาต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปลงนามในสัญญาได้ในเดือน กรกฎาคม 2564 ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร อีก 2 สัญญา มูลค่า 55,458 ล้านบาท ที่รฟท. จะเปิดประมูลในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นี้ ซึ่งบริษัทก็จะเข้าร่วมประมูลด้วย
โดย นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร CK กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของธุรกิจก่อสร้างถือว่าค่อนข้างชะลอตัว เพราะมีการเลื่อนการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เป็นผลมาจากปัญหาด้านการเมืองและผลกระทบจากโรคระบาด Covid-19
อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้รัฐจะเร่งรัดโครงการต่างๆออกมาจำนวนมากเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ งานก่อสร้างขนาดใหญ่สามารถสร้างเงินหมุนเวียนได้หลายรอบ มีผลต่อเนื่องไปที่ธุรกิจอื่นๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง ธนาคารการเงิน ประกันภัยและที่สำคัญคือทำให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งจะมีผลดีต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงจากงบประมาณจำนวนกว่าล้านล้านบาทที่ภาครัฐจัดสรรเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ
รวมถึงงบประมาณสำหรับโครงการที่ได้เตรียมไว้แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติ Covid-19 ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่งานประมูลโครงการของรัฐขนาดใหญ่กำลังเร่งทยอยออกมา และส่งผลดีต่อภาคธุรกิจก่อสร้าง เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 1.2 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 9 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 1.2 แสนล้านบาท รวมมูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้บริษัทมีความพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งด้านบุคลากร แรงงาน เครื่องจักร และที่สำคัญคือประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในงานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เทคนิคสูง เช่นงานขุดเจาะอุโมงค์ งานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน มั่นใจว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะในการประมูลทั้ง 3 โครงการในสัดส่วนที่ไม่น้อย โดยโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเป็นงานที่บริษัทเข้าประมูลโดยตรง ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริษัทจะสนับสนุน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เข้าร่วมประมูลในส่วนของภาพรวมบริษัท ในปี 2564 คาดว่าจะดีกว่าปี 2563 ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 จนถึงปี 2564
โดยบริษัทมั่นใจว่าจะได้รับงานก่อสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ Backlog กลับไปอยู่ที่ระดับเกิดกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญ คือ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีส้ม และที่สำคัญคือ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง มูลค่างานก่อสร้างกว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP กำลังเร่งรัดสรุปและคาดว่าจะเสร็จสิ้นขั้นตอนภายในปี 2564 พร้อมเริ่มก่อสร้างทันที ส่วนบริษัทในกลุ่ม BEM ปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้าและทางด่วนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ซึ่งการระบาดของ Covid-19 น่าจะควบคุมได้ดีขึ้น ทำให้กำไรกลับสู่สภาวะปกติ
สำหรับธุรกิจของ CKP ในปีนี้ โรงไฟฟ้าไชยะบุรีจะผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่และไม่มีผลกระทบด้านภัยแล้งเหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก ทำให้บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากทั้ง 2 บริษัทมากขึ้นกว่าปี 2563 อย่างแน่นอน ส่วน TTW มีผลประกอบการที่ดี และไม่ได้รับผลกระทบอะไรจาก Covid-19 เลย
ส่วนในด้านการบริหารงาน บริษัทยึดหลักให้ความสำคัญด้านคุณภาพ การควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งมอบงานได้ตรงเวลาที่กำหนด ภายใต้อัตรากำไรที่เหมาะสม ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทมาโดยตลอด