งบประยุทธ์ปีสุดท้าย ?
งบประมาณ 65 โดนรุมถล่มทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยเป็นสีสัน “หัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รัก ก็กลับบ้านเราเถอะ”
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
งบประมาณ 65 โดนรุมถล่มทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยเป็นสีสัน “หัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รัก ก็กลับบ้านเราเถอะ”
อย่าคิดมาก ภูมิใจไทยไม่ถอนตัวจากรัฐบาลหรอก แค่อยากออกตัวว่า หัวหน้าหนูไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ ต่อความล้มเหลวทั้งปวง ในการควบคุมโควิด-จัดหาวัคซีน ต้องชี้ไปที่หัวหน้า ศบค.โน่น อนุทินไม่มีอำนาจ กระทั่งงบสาธารณสุขก็ถูกตัด
ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ยังไงก็ยกมือรับหลักการ แต่พรรคการเมืองเริ่มมองยาว รัฐบาลทำท่าจะไปไม่รอด ทั้งสองพรรคจึงต้องเอาตัวรอด ชิงเก็บคะแนนเสียงก่อน
งบ 65 อาจเป็นปีสุดท้ายของประยุทธ์ ไม่ใช่แค่ทางการเมืองอาการหนัก ทางเศรษฐกิจก็ไปต่อยาก งบพอกหางหมูกู้หนี้ผูกพันจนจะล้นเพดาน ประยุทธ์หนีกลับบ้าน ให้คนอื่นทำงานใช้หนี้แทนดีกว่าไหม
งบ 3.1 ล้านล้าน คาดการณ์รายได้ 2.4 ล้านล้าน ขาดดุล 7 แสนล้าน เต็มกรอบวงเงินไม่สามารถกู้ชดเชยได้อีก รัฐบาลหันไปออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ถ้าไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้า ถ้าจีดีพีต่ำกว่าที่ “ปั่น” หนี้สาธารณะก็จะข้ามเส้นวินัยการเงินการคลัง คือเกิน 60% ของจีดีพี
นี่ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้านพูด พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.คลังประชาธิปัตย์ ก็ลุกขึ้นซัดกับ รมว.คลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
ศิริกัญญา ตันสกุล เทคโนแครตพรรคก้าวไกล มองอีกด้านว่า ประเทศอยู่ในช่วงรอยต่อ รัฐบาลต้องอัดฉีดปั๊มหัวใจ กระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ แต่กลับไม่กล้าตัดสินใจ ยังทำตามกรอบกฎหมาย เมื่อคาดว่าจะจัดเก็บรายได้น้อย ก็ลดรายจ่าย คิดแบบนี้ไม่ต้องมีนายกฯ ก็ได้ เอาข้าราชการมาบริหารแทน
พอลดรายจ่าย 1.85 แสนล้าน ก็ไม่สามารถตัดงบประจำกระทรวงกรมต่าง ๆ ซึ่งอันดับแรก งบเงินเดือนสวัสดิการ สูงถึง 1.2 ล้านล้าน 40% ของงบประมาณ เฉพาะงบสวัสดิการก็เพิ่มถึง 1.2 หมื่นล้าน
ราชการยังต้องมี “งบลงทุน” ตามกฎหมายกำหนด ไม่น้อยกว่า 20% ส่วนใหญ่เป็นงบจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อโต๊ะ ซื้อตู้ สร้างตึก ทำป้าย ตัดถนน ถ้าเป็นกองทัพก็ลงทุนซื้อรถถัง ไม่ใช่งบลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานอนาคต
ขณะเดียวกันก็ต้องแบ่งงบใช้หนี้ ชดเชยภาระผูกพัน (ผูกพันเกิน 1 ล้านล้านไปแล้ว) พอรายจ่ายตึงตัว รัฐบาลก็ตัดงบสวัสดิการประชาชน เช่นงบบัตรทอง ประกันสังคม งบการศึกษา สาธารณสุข งบส่งเสริมวิจัยนวัตกรรม งบส่งเสริม SME แม้กระทั่งงบกองทุนสวัสดิการประชารัฐ ที่ยุคสมคิดคุยว่าจะทำให้ “คนจนหมดประเทศ”
พูดง่าย ๆ ว่า ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลก ตั้งแต่อเมริกายุคไบเดนมาถึงมาเลเซีย ทุ่มเงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยกลับ “เขียม” ลดรายจ่าย แต่ใช้เงินส่วนใหญ่ไปเลี้ยงรัฐราชการใหญ่โตเทอะทะ ทั้งเงินเดือนสวัสดิการ และงบจัดซื้อจัดจ้างทำป้าย
แล้วก็ไปออก พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้าน “ตีเช็คเปล่า” ไม่ผ่านสภา เอามาปั่น “ข่าวดี” วันหวยออก “เราชนะ” “คนละครึ่ง” “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เบี้ยหัวแตกที่ได้แค่ปะทะปะทัง ให้ตายช้าลง เจ๊งช้าลง
ว่าที่จริง เราไม่จำเป็นต้องตรึงเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 60% ก็ได้นะ ถ้ากู้แล้วใช้เป็น กู้มาวางรากฐานสร้างอนาคต แต่ไม่ใช่กู้มาใช้เลี้ยงรัฐราชการ จัดซื้อจัดจ้าง เบี้ยหัวแตก จนจะเกินเพดาน
วัคซีนไม่มาตามนัด ไม่น่าจะฉีดครบ 100 ล้านโดสในสิ้นปี เจองบประมาณแบบนี้ เศรษฐกิจมีแต่แย่ลง รัฐบาลยังขายฝัน ปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติสวนทาง กว่าจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด (ซึ่งก็แย่อยู่แล้ว) ต้องรอถึงไตรมาสแรกปี 2566
ไม่ได้พูดเล่น ๆ นี่จะเป็นการทำงบปีสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ คงไม่อยู่ทำงบปี 66 เพราะเจ๊งจนปิดงบไม่ลง