ต้องเดินหน้าวัคซีนทางเลือก
ถ้าไม่มีสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “วัคซีนทางเลือก” ก็คงเป็นได้แค่ “วัคซีนทิพย์” คือไม่มีทางเป็นจริง
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ถ้าไม่มีสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “วัคซีนทางเลือก” ก็คงเป็นได้แค่ “วัคซีนทิพย์” คือไม่มีทางเป็นจริง
เพราะก่อนหน้านี้ มีแต่ข้ออ้างสารพัด นี่ นั่น โน่น ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านด่านสำคัญ อาทิ อย.ขึ้นทะเบียนยา อันเป็นหน่วยงานใหญ่โตที่สุด ไม่รับรองยาที่ WHO รับรองเสียก็ได้ และรับรองยาที่ WHO ไม่รับรองเช่น ซิโนแวค เสียก็ยังได้
อธิปไตย อย.ไทยใหญ่กว่าจักรวาล
ฝ่าด่าน อย. มาก็ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้สั่งยาเข้ามา มันเป็นระบบผูกขาดโดยรัฐ บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐใด ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) จะสั่งซื้อตรงไม่ได้ ปัญหาก็คือ องค์การเภสัชฯ เต็มใจจะรับภาระนำเข้า “วัคซีนทางเลือก” ให้หรือไม่ล่ะ
เนื่องจากยึดติดกับวัคซีนหลักที่ฉีดให้ประชาชนฟรีอยู่แค่ 2 ตัว คือ แอสตราเซเนกา และซิโนแวค ส่วนวัคซีนตัวอื่น อาทิ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม ฯลฯ ที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่า และภาคเอกชนตลอดจน อปท. ก็มีความพร้อมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่มันก็ไม่ง่ายดายนักหรอก
ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล เพราะเสียหน้าจากนโยบาย “แทงม้าตัวเดียว” ทำให้การบริหารวัคซีนล่าช้ามามาก รัฐบาลคงไม่อยากเสียหน้าซ้ำอีก หากประชาชนดิ้นรนช่วยตัวเองโดยไปหาวัคซีนทางเลือกกันมาก ๆ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก้าวเข้ามาหาทางออกให้ประชาชน โดยการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 1 ล้านโดส จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จุดประกาย “วัคซีนทางเลือก” ให้มีความหวังยิ่งขึ้น
อบจ.ปทุมธานีขอสั่งจองซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปฉีดให้แก่ประชาชนในจังหวัดตนเองทันทีจำนวน 500,000 โดส และยังเป็นแนวทางให้ อบจ.อีก 63 จังหวัด แสดงเจตจำนงจองซื้อเช่นเดียวกับ อบจ.ปทุมธานี
รัฐบาลแสดงท่าทีไม่ยินดีกับแนวทาง “ปทุมโมเดล” สักเท่าไหร่นัก ส่งวิษณุมาขัดคอในเรื่องของคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินที่ไม่ให้ อปท.จัดซื้อจัดจ้างโดยตรงกับผู้ผลิต และอาจจะผิดแนวทางของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในเรื่องของการใช้เงินผิดประเภทได้
ทั้งรมว.มหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ต่างดาหน้าออกมาท้วงติงกันใหญ่ ข้อสงสัยเรื่องจะผิดแนวทาง สตง.ก็ยังไม่พอ ยังมีข้อห่วงกังวลในเรื่องจะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง อปท. ที่มีฐานะกับ อปท. ที่มีฐานะไม่สู้ดีอีก
โยนไปให้ ศบค. องค์กรทหารนำการแพทย์ เป็นผู้ตัดสินใจอีกตามเคย
น่าห่วงในแนวคิดมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีเสียจริง ๆ ไอ้เรื่องที่กังวลถึงความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลก็มีหน้าที่เข้าไปเติมเต็มมิใช่หรือ เบาแรงจะตายไปด้วยซ้ำ ที่ไม่ต้องมารับผิดชอบจัดสรรวัคซีนให้แก่ อบจ. ทั่วประเทศทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์
ตามข่าวว่าใน 76 จังหวัด มี อบจ. ที่พร้อมจะเข้าแบกรับงบฉีดวัคซีนแทนรัฐบาลถึง 63 อบจ. รัฐบาลที่ไม่มีวาระซ่อนเร้นควรจะชื่นชมยินดีและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่มิใช่หรือ
ระหว่างความคิดกลัวเสียหน้ากับความคิดที่จะต้องปูพรมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่รัฐบาลจะเลือกการรักษาหน้าตาตัวเอง ที่ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลยกับชีวิตความตายของประชาชน และความพินาศย่อยยับทางเศรษฐกิจ
การได้วัคซีนแอสตราเซเนกา 1.8 ล้านโดส จากโรงงานผลิตไบโอไซเอนซ์เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ก็ยังไม่ใช่หลักประกันที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ว่า จะไม่เกิดการขาดแคลนวัคซีนอีก เพราะข้อมูลรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาค่อนข้างจะมั่วซั่วไม่โปร่งใส
1.8 ล้านโดสมาก็จริง แต่ 1.7 ล้านที่บอกจะมาแล้วไม่มาก่อนหน้านี้ล่ะ หายจ้อยไปอยู่เสียที่ไหน จนต้องประกาศระงับแอป.หมอพร้อม
แล้วโรดแมปการรับมอบวัคซีน AZ ที่วางเอาไว้ 6 ล้านโดสถึงสิ้น มิ.ย. ตั้งแต่ ก.ค.-พ.ย.รวม 5 เดือน จะรับมอบเดือนละ 10 ล้านโดส และเดือน ธ.ค. 5.0 ล้านโดส รวมถึงสิ้นปี 61 ล้านโดส มันก็ไม่มีอะไรแน่นอนหรอก
รัฐบาลชอบทำอะไรชักเข้าชักออกตลอดมา
อัตราการฉีดวัคซีนของประชากรขณะนี้ ก็ยังมีระดับต่ำอยู่มาก ณ สิ้น 31 พ.ค. ยังฉีดวัคซีนไปได้แค่ 3,664,859 โดสเอง ยังเหลือต้องฉีดอีก 96,335,141 โดส ถึงจะครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ที่นายกฯ รับปากไว้กับประชาชน
เวลาที่เหลืออีก 214 วัน ก็ต้องฉีดวัคซีนให้ได้โดยเฉลี่ยวันละ 450,164 โดส แต่ขอโทษที อัตราฉีดขณะนี้แค่วันละ 54,977 โดสเท่านั้น ยังห่างกันกว่า 8 เท่าตัว
ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าวัคซีน AZ จากโรงงานสยามไบโอไซแอนซ์ล็อตแรกมาแล้ว อย่าได้ตายใจว่าปัญหาการกระจายวัคซีนจะหมดไป รัฐบาลอาจไม่มีนักคณิตศาสตร์ใกล้ตัวมาตีแผ่ข้อเท็จจริงว่า จะทำความฝันให้เป็นจริงได้อย่างไร
รัฐบาลที่จริงใจ เห็นแก่ประโยชน์สุข ชีวิต และความตายของประชาชน ต้องอย่าขวางวัคซีนทางเลือกให้ประชาชน