สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 มิ.ย. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 มิ.ย. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (4 มิ.ย.) นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้น หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดได้ช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจคุมเข้มนโยบายการเงินในไม่ช้านี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,756.39 จุด เพิ่มขึ้น 179.35 จุด หรือ +0.52%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,229.89 จุด เพิ่มขึ้น 37.04 จุด หรือ +0.88% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,814.49 จุด เพิ่มขึ้น 199.98 จุด หรือ +1.47%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (4 มิ.ย.) ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการเปิดเผยข้อมูลจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดได้ช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินที่เร็วขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มต่างๆส่วนใหญ่
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 452.57 จุด เพิ่มขึ้น 1.78 จุด หรือ +0.39%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,515.66 จุด เพิ่มขึ้น 7.74 จุด หรือ +0.12%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,692.90 จุด เพิ่มขึ้น 60.23 จุด หรือ +0.39% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,069.04 จุด เพิ่มขึ้น 4.69 จุด หรือ +0.07%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (4 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ แต่หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าคาด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,069.04 จุด เพิ่มขึ้น 4.69 จุด หรือ +0.07%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (4 มิ.ย.) สู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยได้แรงหนุนจากการที่บรรดาเทรดเดอร์คาดว่า อุปสงค์น้ำมันที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ จะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น นอกจากนี้ การที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงนั้นได้ช่วยหนุนสัญญาน้ำมันดิบด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 81 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 69.62 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 5% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 58 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 71.89 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 4.6% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (4 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.อยู่ในระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 18.7 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 1,892 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำลดลงราว 0.7% โดยลดลงรายสัปดาห์เป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 41.9 เซนต์ หรือ 1.52% ปิดที่ 27.896 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.9 ดอลลาร์ หรือ 0.16% ปิดที่ 1,164.4 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 15.60 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,842.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (4 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนได้ลดการถือครองดอลลาร์ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานเดือนพ.ค.ออกมาต่ำกว่าคาด
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.41% แตะที่ 90.1401 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.50 เยน จากระดับ 110.29 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8991 ฟรังก์ จากระดับ 0.9041 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2074 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2104 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2165 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2125 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าสู่ระดับ 1.4159 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4095 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7743 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7651 ดอลลาร์สหรัฐ