BTS นัดถก “กทม.” เคลียร์หนี้ 3 หมื่นลบ.สัปดาห์หน้า เล็งหั่นเป้าผู้โดยสาร เซ่นโควิดรอบ 3
BTS นัดถก “กทม.” เคลียร์หนี้ค่าจ้างเดินรถ 3 หมื่นลบ.สัปดาห์หน้า ยันไม่นำเรื่องต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาเป็นข้อต่อรองแล้ว เล็งหั่นเป้าผู้โดยสารปีนี้ เซ่นโควิด-19 ระบาดรอบ 3
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส บริษัทในกลุ่ม BTS เปิดเผยกับว่า กรณีปัญหาการต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แลกกับการรับภาระหนี้แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยให้เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทว่า เรื่องการต่ออายุสัมปทานเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล บริษัทยืนยันว่าไม่ต้องการนำเรื่องการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาต่อรอง เพราะอายุสัมปทานของบีทีเอสยังเหลืออยู่ 8 ปี
ทั้งนี้บริษัทต้องการทวงถามหนี้ที่ กทม.ค้างค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือน พ.ค.62 ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแนวทางจะให้ต่ออายุสัญญาสัมปทานและได้มีการเจรจากัน ทำให้กทม.หยุดการจ่ายค่าจ้างให้บริษัท และเรื่องก็ยังยืดเยื้อขณะที่กทม.ก็ไม่ได้ตั้งงบเบิกจ่ายเพื่อชำระหนี้รองรับเอาไว้
“สัมปทานสายสีเขียว เราไม่สนใจแล้ว ก็แล้วแต่รัฐบาล…จะหาว่าเอาสัมปทานเป็นข้อต่อรอง เรารอได้ สัมปทานยังเหลืออยู่ 8 ปี ไม่ใช่ปัญหาเรา ส่วนเงินค่าจ้างเดินรถที่กทม.ติดหนี้บริษัทอยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย ติดมา 3 ปีกว่าแล้ว”นายสุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ BTS จะร่วมประชุมกับ กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าวในสัปดาห์หน้า โดยมองว่าหาก กทม.จัดเก็บค่าโดยสารตามสัญญาสัปมทาน ราคาไม่เกิน 104 บาท/เที่ยว ก็จะมีเงินเพียงพอจ่ายค่าจ้างเดินรถได้
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 1.27 แสนล้านบาท ที่บริษัทได้ยื่นฟ้องผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลฯได้รับคำฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา และศาลฯนัดไต่สวนครั้งแรก ในวันที่ 29 ก.ค.2564
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตุว่า รฟม.ยังไม่เปิดการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ หลังจากที่ได้เปิดให้เอกชนร่วมแสดงความเห็นเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมานั้น อาจเป็นเพราะเรื่องคดีฟ้องร้องยังอยู่ในชั้นศาลอาญาฯ และศาลปกครองที่บริษัทยื่นขอให้เพิกถอนและคุ้มครองชั่วกรณี รฟม.และ คณะกรรมการมาตรา 36 มีคำสั่งล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงอาจต้องการความชัดเจนก่อน
อย่างไรก็ดีบริษัทประมาณการจำนวนผู้โดยสาร (Ridership) ในงวดปี 64/65 (สิ้นสุด มี.ค.2565) ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 รอบ 3 จะเติบโต 10% หรือมีจำนวน 138 ล้านเที่ยว/ปี จากปีก่อนมีจำนวน 125 ล้านเที่ยว/ปี แต่สิ้นเดือน มิ.ย.จะมีการปรับลดประมาณการลงจากที่รับผลกระทบการระบาดโควิด-19 รอบ 3 (ตั้งแต่เม.ย.2564)
“ถ้าเปิดประเทศได้ในเดือน ต.ค.2564 นี้ผลกระทบก็คาดว่าจะไม่เยอะ จะประเมินกันอีกครั้งหลังจบสิ้น มิ.ย.ซึ่งก็จะจบไตรมาส 1 ของเรา (เม.ย.-มิ.ย.) น่าจะเห็นทิศทางเรื่องโควิด …คิดว่าปีนี้ มีผลกระทบโควิดไม่มากเท่าปีที่แล้ว ที่รับผลกระทบเต็มปี (เม.ย.63-มี.ค.2564 เม.ย.ก็ปิดเมือง ธ.ค.ก็มีรอบ 2 ถ้าวัคซีนมาเร็ว เปิดประเทศได้ก็ทำให้ไม่แย่มาก”นายสุรพงษ์ กล่าว
ส่วนรายได้จากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (MOVE) คาดว่าในงวดปี 64/65 รายได้จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง จะอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท จากงวดปีก่อนมี 1.94 หมื่นล้านบาท เนื่องจากงานก่อสร้างใกล้เสร็จสิ้น , รายได้จากการติดตั้งระบบและจัดหารถไฟฟ้าขบวนใหม่สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว คาดมีรายได้ 1,000 ล้านบาท จากงวดปีก่อน 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการติดตั้งใกล้เสร็จสิ้นเช่นกัน ส่วนรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ที่รับจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด คาดรายได้ 6,300 ล้านบาท จากงวดปีก่อน 5,300 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจ MIX ที่มาจากบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI, บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX และธุรกิจบัตรแรบบิท คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดปีก่อนที่มีรายได้ 2,614 ล้านบาท
“ธุรกิจปีนี้ (เม.ย.64-มี.ค.65) มีแนวโน้มดีขึ้น ถึงแม้ตอนนี้จะมีการระบาดอยู่ แต่ก็มีการฉีดวัคซีน”
ทั้งนี้บริษัทเตรียมเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในปลายเดือน ธ.ค.64 หรือ ม.ค.65 เลื่อนจากแผนเดิมที่กำหนดเดินในเดือน ต.ค.64 เพราะมีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า โดยจะเก็บค่าโดยสารในช่วง 15-42 บาท/เที่ยว บวกส่วนเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ (CPI) นับจากวันลงนามสัญญา โดยประเมินว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 2 แสนคน/วัน หรือมีรายได้ประมาณ 1,800 ล้านบาท/ปี
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะเปิดเดินรถบางส่วนในเดือน มี.ค.หรือ เม.ย.2565 เพราะขณะนี้งานก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบ 3 ทำให้แคมป์คนงานของบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ต้องปิดไป 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารของสายนี้จะอยู่ที่ราว 2 แสนคน/วันเช่นกัน แต่มีจำนวน 30 สถานีระยะทางยาวกว่าสายสีเหลืองที่มี 23 สถานี
อนึ่ง บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ซึ่งเป็นบริษัทที่กิจการร่วมค้า BSR Joint Venture (BTS, บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) และบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ส่วนบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เป็นบริษัทที่กิจการร่วมค้า BSR Joint Venture ผู้บริหารรถไฟฟ้าสายสีชมพู นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในกลุ่ม BSR ยังไม่ตัดสินใจว่าจะนำรายได้จากการเดินรถ 2 สายนี้มาขายเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องรอให้มีรายได้ 6 เดือนเสียก่อน
ส่วนโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษสาย M6 (บางปะอิน-นครรำชสีมา) และสาย M81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี)ของกรมทางหลวง ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BTS,บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF),STEC,RATCH ) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งและบริหารงาน O&M มอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.จะเซ็นสัญญากับกรมทางหลวง