ระเบิดเวลา ‘เงินเฟ้อ’
เงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนนักวิเคราะห์ฝ่ายกระทิงในตลาดมองว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญสุดในขณะนี้ และเตือนนักลงทุนว่า อาจจะเจอกับ “wake-up call” ในฤดูร้อนนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของดอยซ์ แบงก์ ก็เตือนว่า เงินเฟ้ออาจเป็น “ระเบิดเวลา” โลกได้
กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง
เงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนนักวิเคราะห์ฝ่ายกระทิงในตลาดมองว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญสุดในขณะนี้ และเตือนนักลงทุนว่า อาจจะเจอกับ “wake-up call” ในฤดูร้อนนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของดอยซ์ แบงก์ ก็เตือนว่า เงินเฟ้ออาจเป็น “ระเบิดเวลา” โลกได้
ตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ดอยซ์แบงก์ แม้เงินเฟ้อ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่จะหายไปได้ แต่มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่และนำไปสู่วิกฤตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยชี้ว่า การมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ละเลยความกลัวเรื่องเงินเฟ้อ จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาด แม้ว่ามันจะไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ก็จะเกิดขึ้นในปี 2566 เป็นต้นไป
เงินเฟ้อพุ่งขึ้นทั่วโลก เพราะต้นทุนแรงงานและ ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแทบจะทุกชนิด ตั้งแต่อาหาร เหล็กกล้า ไม้แปรรูป และพลังงาน และผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้นในขณะนี้
ในประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ราคาสินค้าในเดือนเมษายนพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551
รายงานจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ชี้ว่า ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมในอัตรารายเดือนที่รวดเร็วสุดในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษ และเป็นเดือนที่สิบสองติดต่อกันแล้ว ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554
ดัชนีราคาอาหารของ FAO ซึ่งวัดจากการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของตะกร้าธัญพืช เมล็ดพันธุ์ที่ให้น้ำมัน ผลิตภัณฑ์นมเนย เนื้อสัตว์ และน้ำตาล มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 127.1 จุดในเดือนพฤษภาคม เทียบกับ 121.3 จุด ในเดือนเมษายนเมื่อปรับตัวเลขใหม่แล้ว
เมื่อเทียบปีต่อปี ราคาอาหารเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 40% หรือ 39.7% ในเดือนพฤษภาคม และดัชนีราคาธัญพืช เพิ่มขึ้น 36.6% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 6% โดยราคาข้าวโพด พุ่งมากสุด สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 89.9%
ดัชนีราคาน้ำมันพืช พุ่งขึ้น 7.8% ในเดือนพฤษภาคม เพราะราคาปาล์ม ถั่วเหลือง และเรพซีด เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันปาล์มได้แรงหนุนจากการผลิตที่ลดลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่แนวโน้มดีมานด์น้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคไบโอดีเซล จึงไปดันราคาน้ำมันถั่วเหลืองให้เพิ่มขึ้นด้วย
ดัชนีน้ำตาลก็ปรับตัวขึ้น 6.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเก็บเกี่ยวล่าช้า และมีความกังวลว่าน้ำตาลในบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลกจะลดลง
ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2.2% เพราะราคาเนื้อสัตว์ทุกชนิด เพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศในเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะจีน นำเข้าเนื้อสัตว์ในอัตราที่รวดเร็วมากขึ้น
ราคาผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อนหน้า เนื่องจาก มีความต้องการนำเข้านมผง และนมพร่องมันเนยเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง มีเพียงราคาเนยเท่านั้นที่ลดลง เป็นครั้งแรกในรอบเกือบปี เพราะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นจากนิวซีแลนด์
จากรายงานของ FAO และการเคลื่อนไหวของราคาโภคภัณฑ์สำคัญ ๆ อย่างเช่น น้ำมันในช่วงเร็ว ๆ นี้ และการขึ้นค่าแรงในเศรษฐกิจใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐฯ เพื่อดึงคนให้กลับมาทำงาน ในขณะที่สหรัฐฯ จะเปิดเศรษฐกิจใหม่ น่าจะชี้ได้ว่า เงินเฟ้ออาจจะรุนแรงกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้คาดไว้ และอาจปูทางให้เฟดลดโครงการซื้อสินทรัพย์ หรือขึ้นดอกเบี้ย เร็วกว่าที่คาด ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นตื่นตระหนกได้
บทวิเคราะห์ของดอยซ์แบงก์ ได้ชี้นิ้วโทษเฟด และกรอบการทำงานใหม่ของเฟดที่จะยอมให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างเต็มที่และครอบคลุม โดยนักเศรษฐศาสตร์ดอยซ์แบงก์ โต้แย้งว่า ความตั้งใจของเฟดที่จะไม่เข้มงวดนโยบาย จนกว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ยังระบุว่า เงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจคล้ายกับช่วงปี ค.ศ.1970 ซึ่งเป็นช่วงทศวรรษที่เงินเฟ้อมีอัตราเฉลี่ยที่เกือบ 7% และเป็นเลขสองหลักในหลายช่วงเวลา ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น และการเลิกคุมราคา ช่วยผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในยุคนั้น และ พอล โวกเกอร์ ประธานเฟดในขณะนั้น พยายามที่จะสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดภาวะถดถอยตามมา นักเศรษฐศาสตร์ดอยซ์แบงก์ จึงกลัวว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะกลับมาอีกครั้ง
แม้ว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า แผนการใช้จ่าย 4 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเป็นผลดีต่อสหรัฐฯ แม้ว่าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นก็ตาม แต่ จากการวิเคราะห์และเสียงเตือนของนักเศรษฐศาสตร์หลายคนในขณะนี้ เงินเฟ้ออาจจะน่ากลัวกว่าที่คิด