อย่าเป็นแค่อีเว้นท์
งานใหญ่ ทำพิธีคิกออฟกันครึกโครมเมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่จะต้องบันทึกไว้ว่า “ไทยเริ่มโต้กลับสงครามไวรัสโควิด”
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
งานใหญ่ ทำพิธีคิกออฟกันครึกโครมเมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่จะต้องบันทึกไว้ว่า “ไทยเริ่มโต้กลับสงครามไวรัสโควิด”
ยอดฉีดวัคซีนในวันคิกออฟ กระโดดขึ้นมา 351,169 โดส มากที่สุดกว่าทุก ๆ วันที่ผ่านมา แต่หลังวันที่ 7 ไปล่ะ จะลดฮวบลงมามากน้อยแค่ไหน
ปกติก็ฉีดกันโดยเฉลี่ยแค่วันละ 45,000 โดสเท่านั้น แต่วันนั้น 7 พ.ค.เป็น “วันโชว์” ที่มี “อีเว้นท์” การจัดฉีดวัคซีนกันทั่วประเทศ วัคซีนมีเท่าไหร่ ก็ต้องขนกันมาฉีดออกงาน แอสตราเซเนกา เพิ่งออกจากโรงงานไบโอไซแอนซ์มา 1.8 ล้านโดสหยก ๆ ก็ฉีดกันเกลี้ยงในพริบตา แม้แต่ รพ.สังขละบุรี ได้วัคซีนมาแค่ 10 โดส ก็ยังต้องฉีดโชว์ เพื่อให้ดูครอบคลุมทั่วทุกอณูของแผ่นดิน
ตั้งเป้าภายในสิ้นเดือนนี้ จะฉีดให้ครบ 10 ล้านโดส เป็นแอสตราฯ 6 ล้าน และซิโนแวค 4 ล้านโดส
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสรุป “แอคชั่น แพลน” ว่า 6 เดือนที่เหลือ จะฉีดวัคซีนอีก 90 ล้านโดสให้ครบตามเป้า 100 ล้านโดส
เท่ากับโดยเฉลี่ย ต้องฉีดวัคซีนเดือนละ 15 ล้านโดส หรือเฉลี่ย 500,000 โดส/วัน ทำได้ไหมล่ะ!
นับเป็นเป้าหมายอันท้าทายยิ่ง เพราะหากฉีดได้ครบ 100 ล้านโดส จำนวน 50 ล้านคน ก็จะครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 70 อันเพียงพอต่อการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ “Herd Immunity” สู่การต้านทานโรคร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ
ชักจะมีความหวังเปิดประเทศกันได้เสียที ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะได้กลับคืนสู่สัมมาชีพปกติ ไม่ต้องฝากผี ฝากไข้ไว้กับโครงการลด แลก แจก แถมต่าง ๆ อันไร้สาระอีกต่อไป
กว่าจะมาถึงวันนี้ บ้านเมืองป่นปี้มากว่า 1 ปี 3 เดือนแล้ว (นับแต่เคอร์ฟิวกรุงเทพฯ มี.ค. 2563) เศรษฐกิจฐานรากพังหมด ธุรกิจ SME เล็ก-กลาง-ย่อมก็พังยับเยิน ไม่มีชิ้นดี คนตกงานไม่มีจะกิน ส่วนผู้ประกอบการก็หมดเนื้อหมดตัว
ทางออกจากมหาวิกฤตคือวัคซีนเท่านั้น โครงการลด แลก แจก แถมสารพัดชื่อต่าง ๆ กระทั่งโครงการอีอีซี ก็ยังเป็นทางรอง
รัฐบาลกลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดเสียแล้ว ที่ตัดสินใจ “แทงม้าตัวเดียว” คือแอสตราเซเนกา และจะต้องเป็นแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์เท่านั้นเสียด้วย
สั่งแอสตราฯ เดือน ธ.ค. 2563 แต่จะส่งมอบตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 ก็ไม่ถือว่าผิดสัญญาอะไรหรอก แต่การแพร่ระบาดมาเร็วและรุนแรงกว่าที่คิด การต้องรอถึง มิ.ย. 2564 จึงยาวนานเกินไป ไม่ทันการ
นอกจากนั้น มันคือวัคซีนตัวเดียวที่เราเลือก ในขณะที่มีวัคซีนตัวอื่น ๆ อีก 4-5 ยี่ห้อ ที่ชื่อเสียงดีกว่าแอสตราฯ ให้เราเลือก ไม่ว่าไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน สปุตนิก-วี หรือซิโนฟาร์ม
กรณีของไทยเราจึงต้องรอ ในขณะที่ชาติแนวหน้าอื่น ๆ อาทิ อิสราเอล สิงคโปร์ ยุโรปทางสแกนดิเนเวีย ฯลฯ ตื่นตัวฉีดกันมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 แล้ว และข้อเท็จจริงภายหลังก็ปรากฏชัดว่า มีวัคซีนที่หาซื้อได้ในโลกเยอะไปหมด เพียงแต่ประเทศไทยเรา หาซื้อไม่ได้
เมื่อพลาดเรื่อง “แทงม้าตัวเดียว” แล้ว ก็ยังมาพลาดเรื่องไม่เข้าร่วม “โคแวกซ์” อันเป็นองค์กรรวม และกระจายวัคซีนสากลอีก
สาเหตุจะเป็นเพราะขาดความรู้ ความเข้าใจหรืออย่างไรก็ไม่รู้นะ แต่ก็มีคำอธิบายจากปากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแทบจะทุกกรม รวมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูลเจ้ากระทรวงด้วยว่า ไทยเป็นประเทศพ้นความยากจนแล้ว “โคแวกซ์” จัดสรรวัคซีนให้เฉพาะประเทศยากจนเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง สิงคโปร์และเกาหลีใต้ก็เข้าร่วม “โคแวกซ์” ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ที่ให้เงินสนับสนุน “โคแวกซ์” ก็มีสิทธิจะรับจัดสรรวัคซีนด้วยเช่นกัน
เรื่องไม่เข้าร่วมโคแวกซ์ จึงเป็นเรื่องคิดเองเออเอง บริหารงานแบบมโนทั้งสิ้น แต่ประเทศชาติเสียประโยชน์มหาศาล
น่าเสียดายไม่ต่ำกว่า 5 เดือนที่คนอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาท้วงติงรัฐบาลเรื่อง “แทงม้าตัวเดียว” เรื่องความเสี่ยงในคุณภาพวัคซีนและความล่าช้าที่จะเกิดขึ้น แต่รัฐบาลไม่รับฟัง ยังส่งคนไปแจ้งความจับธนาธรเสียอีก ในขณะที่แนวคิดธนาธรได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง
หวังว่าคำขอโทษที่หลุดจากปากพล.อ.ประยุทธ์ จะเกิดจากความรู้ซึ้งถึงข้อผิดพลาดจากการ “แทงม้าตัวเดียว” และไม่เข้าร่วม “โคแวกซ์” งาน 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะได้ไม่เป็นแค่ “อีเว้นท์” หรือ “ปาหี่” เราดี ๆ นี่เอง