กลุ่มแบงก์ร่วงระนาว! หวั่น “ธปท.” คุมดอกเบี้ยสินเชื่อ

กลุ่มแบงก์ร่วงระนาว! หวั่น “ธปท.” คุมดอกเบี้ยสินเชื่อ หวังแก้ไขปัญหาหนี้รายย่อย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ณ เวลา 11.11 น. ราคาหุ้น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK อยู่ที่ 127.50 บาท ลบ 2.50 บาท หรือ 1.92% สูงสุดที่ 130 บาท ต่ำสุดที่ 127 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.41 พันล้านบาท

ราคาหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB อยู่ที่ 104 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 1.42% สูงสุดที่ 106 บาท ต่ำสุดที่ 103 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 499.28 ล้านบาท

ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL อยู่ที่ 121.50 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 1.42% สูงสุดที่ 123 บาท ต่ำสุดที่ 121 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 479.62 ล้านบาท

ราคาหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB อยู่ที่ 11.20 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 0.88% สูงสุดที่ 11.40 บาท ต่ำสุดที่ 11.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 96.72 ล้านบาท

ราคาหุ้นบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO อยู่ที่ 90.25 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 0.55% สูงสุดที่ 90.75 บาท ต่ำสุดที่ 89.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 239.85 ล้านบาท

ทั้งนี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ฯกลุ่มแบงก์มีมุมมอง Negative sentiment ต่อข่าวที่นายกรัฐมนตรีขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ธนาคารที่จะได้รับ Sentiment เชิงลบมากสุดเรียงลำดับ ตามสัดส่วนสินเชื่อบุคคลมากสุด คือ KTB,SCB และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)

ส่วนธนาคารที่มีสินเชื่อจำนำทะเบียนมากสุดคือ TISCO ตามด้วย TTB ทั้งนี้หาก ธปท. ลดเพดานดอกเบี้ยจริง เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว ธปท. จะต้องช่วยลดต้นทุนทางการเงินของกลุ่มธนาคาร โดยอาจยืดอายุมาตรการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ 0.23% ออกไปอีก 1 ปี

พร้อมยังคงน้ำหนักการลงทุน Bullish สำหรับกลุ่มธนาคาร เลือก BBL แนะ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 155 บาท  และ KBANK แนะ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 175 บาท เป็น Top pick

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วันนี้ได้ประชุมร่วมกับนายสุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 6.5 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จต้องทำ 3 เรื่องควบคู่กัน คือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน โดยมาตรการที่นำมาพูดคุยกันในวันนี้มีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

โดยในมาตรการระยะสั้น เช่น ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์,  ลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO, ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ รวมถึงปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

การยกระดับการกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ธปท. ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน และ  กำกับดูแลไม่ให้การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือสหกรณ์สร้างภาระแก่ผู้กู้จนเกินสมควร

พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs เช่น จัดให้มี softloan สำหรับ SME ที่เป็น NPLs เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนอง

สำหรับมาตรการระยะยาว ได้มีการพูดถึงหลักการสำคัญ คือ ต้องทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย และมีการคุมยอดวงเงินกู้ที่เหมาะสม เช่น รัฐต้องเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง เพิ่มระบบให้ผู้ฝากเงินมาเป็นผู้ให้สินเชื่อโดยรับความเสี่ยงมากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการหารือในเรื่องการให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่/คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะออกมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เรื่องที่อยู่อาศัย และค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่คนไทยจะได้รับจากมาตรการดังกล่าว

  1. มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่ดอกเบี้ยลดลงได้ 2-3% ต่อปี
  2. ลดปัญหาการสร้างหนี้เกินตัวลงได้ทันที
  3. เพิ่มโอกาสทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม
  4. ใช้การจัดการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐมาแก้ไขปัญหารากแก้วโดยใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด

โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาหามาตรการเพื่อดำเนินการ เพื่อให้เกิดกระบวนการดำเนินการให้รวดเร็วขึ้น และได้มอบให้มีคณะทำงานในเรื่องดังกล่าว ภายใต้ ศบศ. โดยให้นายสุพัฒนพงศ์รับผิดชอบต่อไป

Back to top button