เปิดประเทศและดอกเบี้ย
เมื่อช่วงเย็นวานนี้
เมื่อช่วงเย็นวานนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาถูกเรื่องเปิดประเทศใน 120 วัน
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องนี้
แทบไม่ได้มีอะไรใหม่
เพราะเรื่องเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบนั้น ไทม์ไลน์เดิมจะอยู่ในช่วงปลายปีนี้ และต้นปี 2565
การเลื่อนมาเร็วขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2564 จึงเร็วกว่ากำหนดไม่มากนัก
บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุนที่เกาะติดเรื่องนี้
ต่างก็พอจะรับรู้ไปก่อนหน้านี้แล้ว
เพียงแต่ว่า การกล่าวของนายกฯ ล่าสุด เป็นการออกมาตอกย้ำว่า ฉันจะเปิดประเทศแน่ ๆ เสมือนว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ประมาณอย่างนั้น
มีคำถามว่า การตอกย้ำของนายกฯ ครั้งนี้ มีผลกับตลาดหุ้นไหม
คำตอบ อาจจะมีบ้าง หรือช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง
หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวอาจจะมีตอบรับเชิงบวก (ในระยะสั้น)
หากราคาวิ่งขึ้นมา ก็น่าจะมีแรงขายทำกำไร เพราะผลประกอบการของหุ้นท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจริง ๆ ว่ากันว่า กว่าจะเห็นกำไรเป็นเนื้อเป็นหนังเหมือนก่อนโควิด
จะต้องรอไปถึงปี 2566 โน่นเลยล่ะ
เพราะแม้ว่าเราจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงปลายปีนี้
ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแบบรวดเร็ว
นักท่องเที่ยวเขาก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงของตัวเขาเองด้วยเหมือนกันว่า ประเทศที่เขาจะเดินทางไป มี “ความเสี่ยง” สำหรับตัวเขาหรือเปล่า
หากประเทศนั้น ๆ ยังมีการระบาดของโควิด-19
คนในประเทศ ยังฉีดวัคซีนกันไปไม่ถึงไหน หรือยังไม่เกิดเรื่อง “ภูมิคุ้มกันหมู่”
เป็นเราก็ยังไม่ไปประเทศนั้น ๆ เหมือนกัน
จึงต้องย้อนกลับมาที่ประเทศไทยว่า เมื่อถึงเวลานั้น ของเราฉีดวัคซีนกันไปถึงไหนแล้ว
และสมมติว่า ยังฉีดวัคซีนไม่คืบหน้าตามแผน และเกิดการระบาดระลอก 4 ขึ้นมาอีก นี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาเป็นอุปสรรค การเปิดประเทศอาจไม่บรรลุผล
มาถึงเรื่อง “อัตราดอกเบี้ย” กันซักหน่อย
เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับท่านนายกรัฐมนตรีอีกแหล่ะ
เพราะล่าสุดออกมาบอกให้หน่วยงาน อย่างแบงก์ชาติไปพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
ข่าวว่า คนที่เสนอเรื่องนี้ให้กับนายกฯ มีชื่อย่อว่า “ส.”
และที่น่าแปลกประหลาดคือ คนเป็นรัฐมนตรีว่าการคลัง ไม่รู้เรื่องนี้เลย!!
หากย้อนกลับไป แบงก์ชาติเพิ่งจะปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล ประเภทต่าง ๆ ไปเมื่อช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง
ผ่านมา 1 ปี จะบีบให้สถาบันการเงินปรับลดลงมาอีกแล้ว
ขั้นตอนต่อไป หลังนายกฯ สั่งมาแบบนี้
ทางแบงก์ชาติก็น่าจะเรียกตัวแทนของกลุ่มสถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาหารือกันอีกครั้งว่า หากจะลดจริง ๆ จะมีผลกระทบกันอย่างไร (ส่วนใหญ่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เขาก็จะมี “ธง” ไว้อยู่แล้ว)
ส่วนหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กับไฟแนนซ์ ต่างกอดร่วงกันระนาว
อย่างกลุ่มแบงก์ เท่าที่ดูบทวิเคราะห์ของโบรกฯ ต่าง ๆ
ส่วนใหญ่ประเมินว่า ไม่น่าจะส่งผลต่อแบงก์ต่าง ๆ มากนัก
เพราะสินเชื่อบุคคลที่ว่ามานี้ ไม่ได้เป็นสินเชื่อหลักของธนาคารต่าง ๆ ในการสร้างรายได้
ขณะที่แบงก์ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อของปล่อยกู้รถเยอะ ๆ เช่น ทิสโก้ เกียรตินาคิน หรือแม้แต่ TTB ก็ไม่น่ามีผลลบมากนัก เพราะปัจจุบัน คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานกันอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับกลุ่มไฟแนนซ์ KTC AEONTS SAWAD และ MTC
หุ้นไฟแนนซ์เหล่านี้ ต่างคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานอยู่แล้วเช่นกัน
แถมบางแห่ง ยังต่ำกว่าเกณฑ์ค่อนข้างมากด้วย
แต่แน่นอนล่ะ เมื่อมีข่าวเชิงลบเข้ามาแบบนี้ บรรดานักลงทุนต่างต้องขายหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้ออกมาจากพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง แล้วรอความชัดเจนอีกครั้ง
ในช่วงนี้ ปัจจัยนี้ น่าจะกดดันหุ้นทั้งสองกลุ่มไปเรื่อย ๆ
จนกว่าจะเห็นตัวเลขดอกเบี้ยที่ถูกปรับลงมา