“ปชป.” ยื่นหนังสือ “ชวน” เร่งหามาตรการเยียวยา “ธุรกิจบันเทิง-อาชีพอิสระ”

“ปชป.”  นำผู้ประกอบการ “ธุรกิจบันเทิง-อาชีพอิสระ” ยื่นหนังสือ "ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา เร่งหามาตรการเยียวยา หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 มิ.ย.64) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ พาตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ถึงประเด็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน และมาตรการการเปิดประเทศ ผ่านนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา

โดยผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน-บันเทิง และอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักจากการถูกสั่งปิดตามมาตรการรัฐบาลนานกว่า 200 วัน แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ เพราะความเดือดร้อนของพวกเขาไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ ตนจึงอาสาเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่าง 3 กลไกหลัก คือ นิติบัญญัติ (รัฐสภา) บริหาร (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, กระทรวงสาธารณสุข) และพรรคการเมือง (พรรคประชาธิปัตย์) ผลักดันคำร้องของผู้ได้รับผลกระทบที่ทางสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงรวบรวมมาทั้งหมดให้ไปถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณมาจัดทำมาตราการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เป็นธรรม ทั้งในด้านการฟื้นฟู เยียวยาเศรษฐกิจ รวมถึงบริหารจัดการวัคซีน เพื่อทำให้ชีวิตประชาชนกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และมีมาตรการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับการเปิดประเทศภายใน 120 วันข้างหน้า

โดยที่ผ่านมาได้พาตัวแทนสมาพันธ์ฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับคำร้องต่าง ๆ ถึงพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว ส่วนในวันนี้เป็นการยื่นจดหมายถึงรัฐสภา เพื่อให้ครบทั้ง 3 กลไกสำคัญตามที่ตั้งใจ โดยได้รับเกียรติจากประธานรัฐสภา ให้ยื่นจดหมายและเข้าพบเลขานุการรัฐสภา เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือ รวมทั้งการเตรียมตัวสู่มาตรการการเปิดประเทศที่เหมาะสมต่อไป

ด้านนายนนทเดช​ บูรณะ​สิทธิ​พร และนายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนจากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง กล่าวว่า พวกตนเข้าใจดีว่าสถานการณ์วิกฤต-19 ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง และได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปิดกิจการชั่วคราวมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจยังไม่เคยได้รับการเยียวยาที่ตรงจุด ทั้ง ๆ ที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย จ่ายภาษีครบถ้วน ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องทางการเงิน หลายธุรกิจต้องเลิกกิจการ

ส่วนพนักงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระตกงาน ขาดรายได้นานกว่า 200 วัน และยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างตรงจุด ซึ่งการที่เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนต่อไปได้นั้น เราเชื่อว่าจำเป็นต้องมีทั้งธุรกิจภาคกลางวันและภาคกลางคืน ดังนั้นหลังจากที่คุณปริญญ์ได้พาสมาพันธ์เข้าพบศบค. แล้วจึงได้รวบรวมคำร้องและข้อเสนอแนะฉบับล่าสุดมายื่นต่อรัฐสภา ด้วยประเด็นหลัก ดังนี้

1.ร้องขอให้ภาครัฐดูแลธุรกิจร้านธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงเช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร โดยยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม ให้ปิดเฉพาะสถานบันเทิงที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 14 วันเท่านั้น ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้ เปิดโอกาสให้เอกชนหรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะ

รวมถึงเปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการประชาชน ก่อนที่ทางรัฐบาลจะออกมาตรการต่าง ๆ

  1. ปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้ทั่วถึง ชัดเจน และเป็นธรรม อาทิ ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพได้ทุกประเภท ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมจัดการโรคขั้นสูงสุด เช่น จัดที่นั่งแบบ 2 เว้น 1 จำกัดจำนวนผู้เข้าชมงาน ผู้เข้าชมต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 อย่างน้อย 7 วันแล้วเท่านั้น เป็นต้น พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด

โดยพิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา พักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและการจ้างพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และช่วยเหลือพนักงานและกลุ่มอาชีพอิสระที่ตกหล่นจากการเยียวยา รวมทั้งจัดตั้งกองทุนช่วยเหลืออาชีพอิสระ

3.อยากให้ภาครัฐมีไทม์ไลน์หรือระยะเวลาในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ชัดเจน โดยขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศบค. และกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ให้รัฐบาลระบุวันเวลาที่กิจการต่าง ๆ จะกลับมาเปิดบริการได้อย่างชัดเจน

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา นายสาคร เกี่ยวข้อง และนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวร่วมกันว่า พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลยินดีรับข้อร้องเรียนดังกล่าวและจะจัดทำหนังสือเสนอประธานรัฐสภาเพื่อให้ลงนามก่อนส่งมอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นลำดับถัดไป พร้อมร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติในรัฐสภา เพื่อพิจารณานำงบประมาณมาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง

ขณะเดียวกันได้แนะนำให้สมาพันธ์ฯ มองการแก้ไขในระยะยาวด้วยการจดทะเบียนเป็นสมาคมให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจัดตั้งกองทุนสนับสนุนวิชาชีพในธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมกับรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้จะมีการอัปเดทข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานแก่สมาพันธ์ฯ เป็นระยะ ทั้งนี้ได้มีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีกหลายท่านเข้าร่วมหารือ อาทิเช่น นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู นางสาวพิมพ์รพี  พันธุ์วิชาติกุล นายชัยชนะ เดชเดโช นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ และ นายวุฒิพงษ์ นามบุตร

Back to top button