JAS กับคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น
จากอิทธิฤทธิ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 ว่าด้วยเรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา นั่นทำให้บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ต้องบันทึกหนี้สินตามสัญญาเช่าและสินทรัพย์สิทธิการใช้สำหรับสัญญาเช่าดำเนินงาน
จากอิทธิฤทธิ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 ว่าด้วยเรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา นั่นทำให้บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ต้องบันทึกหนี้สินตามสัญญาเช่าและสินทรัพย์สิทธิการใช้สำหรับสัญญาเช่าดำเนินงาน
โดยแต่ละงวดจะรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสื่อมราคา ในงบกำไรขาดทุน จากสัญญาเช่าโครงข่ายสื่อสาร จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจัสมิน หรือ JASIFz (จากเดิมค่าเช่าตามสัญญาเช่าดำเนินงานจะถูกบันทึกเป็น ต้นทุนขายและบริการ หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) ในส่วนของ JAS และบริษัทย่อย
จนเป็นเหตุให้ JAS จากเคยสุขสมกับกำไรเฉลี่ยปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท แต่ปี 2563 กลับตาลปัตรพลิกขาดทุนสุทธิ 3,125 ล้านบาท แม้ว่าเป็นเพียงการ “ขาดทุนทางบัญชี” เท่านั้น แต่นั่นทำให้งบการเงินรวมมีขาดทุนสะสม 11,524 ล้านบาท เรียกว่าเลิกคิดเรื่อง “จ่ายปันผล” จากงบการเงินรวมไปเลยอีกหลายปี
แต่โชคดีที่งบการเงินเฉพาะกิจการ JAS มีกำไรสะสมกว่า 1,530 ล้านบาท และด้วยกระแสเงินสดที่มีอยู่ในมือบวกกำไรสะสมดังกล่าว ทำให้ JAS จ่ายปันผลจากกำไรสะสมมาได้อย่างต่อเนื่อง.! แต่นั่นก็ทำให้ตัวเลขกำไรสะสมลดน้อยถอยลงไปด้วย
จึงทำให้ “หุ้นพิมพ์นิยมรายย่อย” อย่าง JAS เสน่ห์น้อยลงด้วย เรียกง่าย ๆ ก็คือไม่สามารถ “เรียกแขก” ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว..!!
เมื่อ JAS ชักเริ่มตัน..มันจึงต้องดันบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS (JAS ถือหุ้นใหญ่กว่า 32%) ขึ้นมา “เรียกแขก” แทน ด้วยการเติมเชื้อสตอรี่ให้ดูน่าสนใจมากขึ้น โดยที่ JAS ยอมตัดขายหุ้นบริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JAS ถือหุ้น 100% ผ่านบริษัท จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด) ทั้งหมด มูลค่า 1,200 ล้านบาท ให้กับ JTS หากว่าดูแบบผ่าน ๆ ก็ดูเหมือนไม่มีอะไร..เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจในวงศาคณาญาติกลุ่มจัสมินเท่านั้น..!?
แต่ไฮไลท์มันอยู่ที่ว่าอยู่ดี ๆ ทำไม JAS กลับขายหุ้น “จัสเทล” ทั้งที่ถือหุ้น 100% และเป็นตัวทำเงินให้ JAS ปีละกว่า 1,200-1,300 ล้านบาท กำไรเฉลี่ยปีละกว่า 100 ล้านบาท จากเคย “กินรวบ” 100 % ทำไมยอม “กินแบ่ง” ผ่านทาง JTS ที่ถือหุ้นเพียงแค่ 32% มันดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเอาเสียเลย..!!??
กลวิธีนี้คิดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่า..นี่คือการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ เพื่อเติมเต็มให้ JTS มีมูลค่ามากขึ้นแบบก้าวกระโดด เพื่อเรียกแขกเข้า JTS มากขึ้น เหมือนดั่งที่เคยเกิดขึ้นกับ JAS หลายต่อหลายครั้งมาแล้ว
เพราะการที่ JTS เข้าซื้อ “จัสเทล” ทั้ง 100% สถานะการเงิน JTS จะดีขึ้นแบบก้าวกระโดด จากบริษัทที่มีรายได้ปีละ 200-300 ล้านบาท สู่บริษัทที่มีรายได้ 1,500 ล้านบาท..และจากบริษัทที่มีกำไรปีละไม่ถึง 50 ล้านบาท กลายเป็นบริษัทที่มีกำไรปีละกว่า 100 ล้านบาทขึ้นมาทันที
เรียกว่า “วิทยายุทธ์ทางการเงิน” แห่งสำนักจัสมิน นี่ชั่งล้ำลึกไร้เทียมทานจริง ๆ เพราะถึงขึ้นใช้เคล็ดวิชาจาก “คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น” ได้อย่างแยบยลไม่แพ้ “เหล็งฮู้ชง” เลยจริง ๆ