“ส.อ.ท.” เผยยอดส่งออกรถยนต์ พ.ค.โตกระฉูด 166% เฉียด 8 หมื่นคัน
“ส.อ.ท.” เผยยอดส่งออกรถยนต์ พ.ค. โตกระฉูด 166% เฉียด 8 หมื่นคัน ส่วน 5 เดือนแรกปีนี้โต 30% แตะ 3.9 แสนคัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน พ.ค.64 อยู่ที่ 79,479 คัน เพิ่มขึ้น 165.87% จากเดือน พ.ค.63
โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเนื่องจากฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 50.30% จากเดือน เม.ย.64 เพราะประเทศคู่ค้าเริ่มมียอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น เช่น ออสเตรเลียขายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมปีก่อน 68.3% เวียดนามขายในประเทศเพิ่มขึ้น 34.1% ญี่ปุ่นขายเพิ่มขึ้น 46.3% อินโดนีเซียขายเพิ่มขึ้น 1,443% เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งออกยังลดลง 16.63% จากเดือน พ.ค.62
“ยอดส่งออกเดือน พ.ค.64 ขยายตัวเพิ่มจากเดือนเดียวกันของปีก่อนเกิน 100% เนื่องจากเดือน พ.ค.63 เป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ซึ่งมีการล็อคดาวน์ประเทศทำให้ฐานต่ำ โดยตลาดที่ส่งออกไปได้เพิ่มคือ ออสเตรเลียและอาเซียนที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว” นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.64) อยู่ที่ 390,467 คัน โดยเพิ่มขึ้น 29.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 221,429.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 39.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ยอดส่งออก 5 เดือนเกิน 50% ของเป้าส่งออกปีนี้ที่ 7.5 แสนคันแล้ว หากไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม ยอดส่งออกปีนี้น่าจะทะลุเป้าไปถึง 8.5 แสนคัน ขอดูว่าเดือนหน้าจะปรับเป้าหรือไม่ เพราะยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนชิปที่จะยืดเยื้อไปถึงปีหน้า ทำให้ต้องหยุดการผลิตรถยนต์บางรุ่น” นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับยอดการผลิตรถยนต์เดือน พ.ค.64 อยู่ที่ 140,168 คัน เพิ่มขึ้น 150.14% จากเดือน พ.ค.63 จากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 126.01% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 193.39% จากฐานต่ำปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย.63 และห้ามจัดงานมอเตอร์โชว์ปลายเดือน มี.ค.63 ทำให้สต็อกรถยนต์ในโชว์รูมยังมีจำนวนมาก บางบริษัทจึงยังไม่มีการผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ค.63 แต่การผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ค.64 ยังเพิ่ม 34.32% จากเดือน เม.ย.64 แต่ลดลง 22.70% จากเดือน พ.ค.62 ก่อนเกิดโควิด-19
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ของไทยในปี 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,427,074 คัน ลดลง 29% จากปี 62 อยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก จากการจัดอันดับขององค์การสากลของผู้ผลิตรถยนต์ (ORGANISATION INTERNATIONALE DES CONSTRUCTEURS DAUTOMOBILES: OICA)
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า กรณีทางการเวียดนามห้ามนำเข้ารถยนต์ดีเซลที่ใช้เชื้อเพลิงมาตรฐานต่ำกว่ายูโร 5 นั้น ภาคเอกชนของไทยได้แจ้งให้หน่วยงานที่ผู้เกี่ยวข้องรับทราบแล้วว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่เรื่องภาษี ซึ่งขัดต่อข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO)
นอกจากนี้ยังประสานไปยังสมาคมยานยนต์ของเวียดนามให้ชี้แจงต่อทางการว่า กรณีดังกล่าวจะไม่เกิดประโยชน์ หากในประเทศเวียดนามไม่มีความพร้อมเรื่องน้ำมัน แต่จะส่งผลให้ราคารถยนต์แพงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการผลิตรถยนต์ตามมาตรฐานดังกล่าว