สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 25 ก.ย.58


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.89 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 120.15/17 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1159 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1178/1180 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,376.83 จุด เพิ่มขึ้น 4.48 จุด หรือ 0.33% มูลค่าการซื้อขาย 31,533.24 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,914.84 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยทั้งปี 58 และปี 59 มาที่ 2.7% และ 3.7% ตามลำดับ จากก่อนหน้าที่คาดจะขยายตัว 3.0% และ 4.1% ตามแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่อ่อนแอลงเป็นสำคัญ โดยการส่งออกปีนี้คาดว่าจะติดลบ 5% จากเดิมคาดติดลบ 1.5% เนื่องจากการส่งออกสินค้าลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและเอเชีย ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1.2% ในปี 59

– นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบราว 4% โดยก่อนหน้านั้นสภาพัฒน์ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะติดลบ 3.5% จากเดิมคาดว่าโต 0.2%

– รมว.คมนาคม มั่นใจรัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อน ผลักดัน และเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน จำนวน 19 โครงการ ใช้เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการวางฐานทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ โดยทุกโครงการจะสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ราวไตรมาส 3 ของปี 59

– นายเซิง ซ่งเฉิง ผู้อำนวยการฝ่ายสถิติของธนาคารกลางจีนกล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว พร้อมกับระบุว่า การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนของจีนเป็นการดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม

– รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือนก.ย. อันเนื่องมาจากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ซบเซาลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลีกเลี่ยงที่จะแสดงมุมมองว่า อัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้น ย่ำแย่ลงหรือไม่

– ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ระบุความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าเกาหลีใต้ฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบจากการระบาดของโรคทางเดินหายใจสายพันธุ์ตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส (MERS) โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCSI) ปรับตัวขึ้น 1 จุด สู่ระดับ 103 ในเดือน ก.ย. หลังจากดัชนีร่วงลงจากระดับ 105 ในเดือน พ.ค.มาแตะ 99 ในเดือน มิ.ย.ขณะที่โรคเมอร์สกำลังระบาดอย่างหนัก ก่อนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100 ในเดือน ก.ค. และเพิ่มขึ้นแตะ 102 ในเดือน ส.ค.

– คณะกรรมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ในเดือน ส.ค.ร่วงลง 7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าในเดือน ก.ค.ที่หดตัว 6.4% และร่วงลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลงประมาณ 5% เนื่องจากมีปัจจัยถ่วงจากการหดตัวลงของอุตสาหกรรมภาคอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งร่วงลง 10.9% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ปรับลดลง 7.4% ในเดือนก่อนหน้า ส่วนการผลิตของภาคเภสัชภัณฑ์ในเดือน ส.ค.หดตัวลง 6.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งหดตัวน้อยกว่าเดือน ก.ค.ที่ร่วงลง 18% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ซึ่งร่วงลง 18.0% ส่วนการผลิตในภาคชีวการแพทย์ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร่วงลง 2.2% เมื่อเทียบรายปีในเดือน ส.ค. หลังจากร่วงลง 12.9% ในเดือน ก.ค.

– หน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารของไต้หวัน ระบุว่า ไต้หวันได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.125% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ หลังจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไต้หวันประกาศว่าอาจเป็นเรื่องยากที่จะรักษาระดับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้สูงกว่า 1% ในปีนี้

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button