CIMBT หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 1.3% จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงทำศก.โตช้า
CIMBT หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 1.3% จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงทำศก.โตช้า
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 1.3% ลงจากเดิม 1.9% และปี 65 ปรับลดจาก 5.1% เหลือ 4.2% หลังการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 มีแนวโน้มยาวนาน ประกอบกับการฉีดวัคซีนล่าช้า หรือวัคซีนยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ มีผลต่อเนื่องให้การระบาดของโควิด-19 ระลอกอื่นๆ กำลังจะเกิดขึ้นตามมา
โดยเศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้า (Slow) เนื่องจากยังเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยงเสริมเข้ามา ได้แก่ 1. Stagnant 2. Uneven 3. Reverse 4. Effective จึงขอเรียกเศรษฐกิจไทยช่วงนี้ว่า Slow But S.U.R.E.
S = Stagnant นิ่ง เพราะการใช้จ่ายที่ ซึมและนิ่ง
การบริโภคภาคเอกชนโตช้า จากความมั่นใจที่อยู่ระดับต่ำ คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย จากความระมัดระวัง การเดินทางในประเทศยังซึม เพราะขาดความมั่นใจ และการแพร่ระบาดที่สูง
U = Uneven ความไม่เท่าเทียม การฟื้นตัวในระดับที่ต่างกัน
กลุ่มคนรายได้น้อย กลุ่ม SME กลุ่มคนประกอบอาชีพอิสระ ฟื้นตัวช้า ขณะที่มนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนทำงานภาคอุตสาหกรรม ฟื้นตัวตามตลาดโลก ตามภาคการส่งออก ส่วนภาคการผลิต ฟื้นตัวได้มากกว่าภาคบริการ สำหรับประเทศไทยในภาพรวม ฟื้นตัวตามการส่งออก ได้มากกว่าอุปสงค์ในประเทศ
R = Reverse กลับด้าน การเปลี่ยนมุมมองด้านโลกาภิวัตน์ (reversed globalization)
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทวีความกดดันขึ้นอีกครั้ง หลังเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ G7 ร่วมมือกันกดดันจีน ไม่ให้จีนเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่แทนที่สหรัฐ และขยับจากสงครามการค้ารูปแบบภาษี เป็นกดดันการเติบโตทางเทคโนโลยีของจีน อีกทั้งขีดเส้นให้ชาติอื่นๆ ต้องเลือกข้าง ระหว่างสหรัฐ ชาติพันธมิตรสหรัฐ หรือจีน ส่งผลให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ เผชิญปัญหาต้นทุนการผลิต ต้นทุนทางเทคโนโลยีสูงขึ้น เรามองว่า ประเทศไทยต้องระมัดระวัง ไม่เลือกข้าง และควรสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับทั้ง 2 ชาติ มหาอำนาจ
E = Effective ประสิทธิภาพของวัคซีน
การวางแผนฉีดวัคซีนให้ถึง 100 ล้านโดส สิ่งที่ต้องติดตามเพิ่มเติมคือ วัคซีนที่เราได้รับวันนี้ สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่ และหากฉีดครบ 2 โดสแล้ว จำเป็นต้องฉีดโดสที่ 3 ที่ 4 หรือโดสอื่นๆ เพื่อกระตุ้นต่อเนื่องไหม เราจึงอยากเห็นการวางแผนเพิ่มเติมในจุดนี้ รวมถึงเร่งดำเนินการเชิงรุกในการกระจายความเสี่ยงของชนิดวัคซีน เพราะนอกจากมีความสำคัญทางการแพทย์ วัคซีนยังมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย วัคซีนสะท้อนความเชื่อมั่นของคน หากคนไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ แม้ฉีดแล้วยังไม่กล้าเดินทาง หรือยังถอดหน้ากากไม่ได้ เดิมคาดว่ากิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาเปิดได้ในเดือนสิงหาคมนี้ อาจถูกเลื่อนออกไป
“4 ข้อนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ปีหน้า โตช้า กว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นพาเศรษฐกิจไทยกลับไปสู่ภาวะวิกฤต” ดร.อมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นเร็วกว่าที่คาด หากมี 4 ปัจจัยเร่ง ได้แก่ 1. Confidence 2. Agriculture 3. Return of tourists 4. Expenditure
C = Confidence สร้างความเชื่อมั่น หากมีการเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว ควบคู่ไปกับเอกชนเข้าถึงวัคซีนทางเลือกรวดเร็ว คนจะกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง
A = Agriculture ฟื้นแรงงานภาคเกษตร หลังปิดกิจกรรมเศรษฐกิจ คนย้ายถิ่นฐานกลับบ้าน หากเร่งการฟื้นตัวของแรงงานกลุ่มนี้โดยเสริมการจ้างงานในชนบทให้สร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้ จะยิ่งเป็นแรงหนุน เพราะเป็นโชคดีที่รายได้ภาคเกษตรปีนี้ถือว่าดี จากราคาที่สูงและผลผลิตมาก
R = Return of Tourists เตรียมแผนรับนักท่องเที่ยวปีหน้า โดยการเร่งทำ Bubble Tourism กับต่างประเทศเพื่อลดการกักตัวสำหรับผู้ได้รับวัคซีน ถึงแม้ปีนี้ไทยจะเตรียมความพร้อมและทดลองผ่าน แซนด์บ็อกซ์ แต่ปีหน้าหลังจากมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ไทยจะสามารถกลับมามีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นตัวหลักในการฟื้นเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปีนี้ประมาณ 4-5 แสนคนเท่านั้น ทั้งนี้ต้องรอดูความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ประกอบกับแนวโน้มสถานการณ์ของปีหน้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น จึงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 65 ไว้ที่ประมาณ 10 ล้านคน
นายอมรเทพ กล่าวว่า การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์วันที่ 1 ก.ค.นี้ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่ คือ กลุ่มโรงแรม ส่วนกลุ่มที่ได้รับประโยชน์เล็กน้อย คือ กลุ่มธุรกิจการค้าต่างๆ เนื่องจากในขณะนี้ทางประเทศจีนยังไม่มีมาตรการให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนนั้นถือเป็นรายได้หลักในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าจากการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
E = Expenditure เร่งการใช้จ่ายภาครัฐให้ตรงจุด บรรเทาปัญหาแรงงานด้วยการเร่งประกันสังคมชดเชยรายได้ ดูแล SME ให้สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงาน มีค่าชดเชยรายได้ที่หาย หรือเครดิตเงินคืนภาษีในปีต่อๆไป พร้อมเร่งอัดฉีด Soft Loan เสริมสภาพคล่องไม่ให้ธุรกิจต้องปิดตัว หากรัฐกังวลหนี้ชนเพดาน ก็ให้หาทางเพิ่มรายได้ เช่นปล่อยเช่าทรัพย์สิน หรือใช้ตลาดทุนในการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจบางส่วน แล้วพอเศรษฐกิจฟื้นมีรายได้ค่อยมาซื้อคืน เป็นต้น
นายอมรเทพ กล่าวว่า ในเดือนส.ค. ปีนี้ไทยน่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยภาคการเกษตรจะเริ่มกลับมา ในขณะที่ด้านแรงงาน และการใช้จ่ายด้านการบริโภคยังไม่กลับมาแบบเต็มรูปแบบ และคงไม่เห็นการฟื้นตัวแรงในการเปิดเมืองรอบนี้ เนื่องจากประชาชนยังคงขาดความเชื่อมั่นอยู่ ทางรัฐบาลจึงควรเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาจากการออกมาตรการชดเชยรายได้ เพื่อสร้างสมดุลและประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอด ก่อนที่จะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
ในขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้วจะต้องสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อมูลของประชาชนที่รัฐมีอยู่จากการที่ให้ประชาชนลงทะเบียนในโครงการต่างๆ ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการออกมาตรการให้ตรงจุด และตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังสามารถออกมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อชดเชยรายได้จากกระทรวงการคลังได้อยู่ ถึงแม้หนี้สาธารณะต่อ GDP อาจทะลุเกิน 60% แต่ภาพรวมความน่าเชื่อถือของประเทศจะยังไม่เสียหายมากนัก ทั้งนี้ทางรัฐบาลต้องไม่นิ่งเฉย พร้อมเร่งหารายได้จากอนาคตเพื่อมาชดเชยส่วนที่หายไป
“ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ สร้างความเชื่อมั่น เตรียมแผนล่วงหน้า คู่ขนานไปกับงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยประคองกำลังซื้อของคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ในปีหน้า” นายอมรเทพ กล่าว