พาราสาวะถีอรชุน

ไม่ว่าจะรัฐบาลจากนักการเมืองหรือจากไหนก็แล้วแต่ เมื่อนั่งอยู่บนหอคอยแห่งอำนาจแล้ว มักจะหูอื้อตาฟาง ชื่นชอบแต่เสียงยกย่องสรรเสริญแต่กลุ่มคนที่ออกมาสนับสนุน ขณะที่ฝ่ายค้านหรือแสดงความเห็นต่างกลับไม่อยากรับฟัง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ภาพฟ้องที่ชัดเจนคือ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศที่ไปถ่ายภาพร่วมกับฝ่ายหนุนรัฐบาลที่นิวยอร์ก


ไม่ว่าจะรัฐบาลจากนักการเมืองหรือจากไหนก็แล้วแต่ เมื่อนั่งอยู่บนหอคอยแห่งอำนาจแล้ว มักจะหูอื้อตาฟาง ชื่นชอบแต่เสียงยกย่องสรรเสริญแต่กลุ่มคนที่ออกมาสนับสนุน ขณะที่ฝ่ายค้านหรือแสดงความเห็นต่างกลับไม่อยากรับฟัง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ภาพฟ้องที่ชัดเจนคือ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศที่ไปถ่ายภาพร่วมกับฝ่ายหนุนรัฐบาลที่นิวยอร์ก

ขณะที่ฝ่ายต้านกลับมีการบล็อกสารพัดเว็บไซต์ที่เตรียมจะถ่ายทอดสดกลับมายังประเทศไทย ฟังคำอธิบายของ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลยังไงก็ไม่เนียน ยิ่งในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ไม่อาจจะปิดกั้นการรับรู้ของผู้คนได้ ยิ่งปิดยิ่งเปิดเผย ยิ่งไม่ปล่อยคนยิ่งอยากรับรู้ สู้ให้แสดงออกก่อนอย่างเต็มที่ดีกว่า ถ้ารัฐบาลมีฝีมือและทำงานได้จริง ใครก็ทำอะไรไม่ได้

เมื่อมั่นอกมั่นใจว่าต่างชาติเอาด้วยและสนับสนุนรัฐบาลคสช. ไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวอะไร เห็นภาพ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รับรางวัลโน่นนี่นั่นเต็มไปหมด ก็น่าจะเป็นภาพที่ยินดี เมื่อกลับมาแล้วก็คุยฟุ้งได้อีกนานแสนนานว่านั่นเป็นสัญญาณเชิงบวกจากนานาชาติ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นั่น ความเป็นจริงในประเทศพี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดีแล้วหรือยัง นี่ต่างหากคือคำตอบสุดท้าย

อย่างที่บอกไว้ แรงเสียดทานหรือกระแสกดดันจากโลกประชาธิปไตยอาจมีบ้าง แต่กับเวทีที่ต้องรักษามารยาทเป็นสำคัญ คงไม่มีใครที่จะแสดงออกอย่างตรงๆ หากแต่ภาพใหญ่คือภายในเดือนตุลาคมนี้ผลการประเมินของสหภาพยุโรปหรืออียูว่าด้วยการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายของไทย หากยังคงระดับใบเหลืองหรือแจกใบแดงคงต้องไม่อธิบายอะไรกันมาก

เช่นเดียวกันกับท่วงทำนองของพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกา หลังการเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ของ กลิน ทาวเซนต์ เดวี่ส์ ทูตคนใหม่คงจะได้เห็นแอ็กชั่นอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการเดินสายพบกับผู้นำทางการเมืองของไทยที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ละพรรคแต่ละพวกจะสะท้อนภาพมาอย่างไรและทูตจากประเทศต้นแบบประชาธิปไตยจะแสดงออกอย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่ต้องรอเงี่ยหูฟัง

กระนั้นก็ตาม ในการหารือทวิภาคีกับ บัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็น บิ๊กตู่ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะจัดการเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2560 แต่เลขาฯยูเอ็นก็แสดงความเป็นห่วงต่อการที่พื้นที่แห่งประชาธิปไตยในไทยแคบลง โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นการในการรักษาเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุม ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าผู้นำรัฐบาลคสช.ตกปากรับคำที่จะกลับมาปรับปรุงหรือไม่

ที่น่าสนใจประการต่อมาคือ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อขจัดความยากจนและหิวโหย ที่บิ๊กตู่ก้มหน้าก้มตาอ่านสคริปต์นั้น ไม่รู้ว่าสุดท้ายปลายทางจะทำได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในสังคมและการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของประเทศอย่างทัดเทียม ไม่ต้องการให้สังคมไทยมีการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเบียดบังผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้คงเป็นการกล่าวหาฝ่ายการเมืองสร้างความแตกต่าง แบ่งแยก เอารัดเอาเปรียบจนเกิดความอยุติธรรมและนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาในสังคมไทย เพราะในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันสำหรับประเทศไทย ยังดูห่างไกลจากวาทกรรมดังว่า เนื่องจากรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นกรรมการที่ต้องเป็นกลางยังปล่อยวางอคติและความเกลียดชังไม่ได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือกรณีนโยบาย “ประชานิยม” ที่รัฐบาลคสช.กลัวว่าจะเลียนแบบแนวทางของ ทักษิณ ชินวัตร แต่พลันที่แต่งตั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ  ก็มีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก พร้อมๆ กับบัญญัติคำใหม่มาใช้เรียกว่าเป็นนโยบาย“ประชารัฐ” ทั้งๆ ที่ดัดแปลงและประยุกต์มาจากแนวคิดแบบทักษิโณมิกส์ทั้งดุ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำได้เหมือนต้นตำรับหรือไม่

อยากให้ฟังความเห็นของ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีไอซีทียุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มองว่า ถ้าเป็นสมคิดในวันนี้คงต้องคิดมากกว่าการทำงานในสมัยก่อน เพราะการใช้นโยบายประชานิยมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วันดีคืนดีก็อาจมีคนมายื่นฟ้องศาลว่าท่านเป็นคนทำให้รัฐขาดทุน เหมือนกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกระทำอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของสมคิดก็สะท้อนความจริงให้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า นโยบายประชานิยมเป็นเรื่องถูกต้องและไม่เสียหายแต่อย่างใด และก็เป็นการตอกย้ำว่า สิ่งที่ฝ่ายเผด็จการใช้กล่าวหาพรรคการเมืองและนักการเมืองว่ามอมเมาประชาชนด้วยการนำเสนอนโยบายประชานิยมเป็นเพียงแค่เรื่องที่ยกขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเท่านั้น

แต่มันคงจะเป็นเรื่องแปลกสุดๆ หากรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างขึ้นใหม่ มีบทบัญญัติห้ามไม่ให้พรรคการเมืองมีนโยบายประชานิยม เพราะหากพรรคการเมืองพร้อมใจกันนำเสนอนโยบายที่“ประชาไม่นิยม” คำถามที่ตามมาก็คือ  แล้วแมวที่ไหนจะลงคะแนนให้พรรคนั้น จริงหรือไม่คงต้องให้พรรคที่กล่าวหาเรื่องนี้มาตลอดอย่างพรรคเก่าแก่เป็นผู้ตอบ

เครื่องหมายคำถามที่อดีตรัฐมนตรีไอซีทีโยนให้สังคมตอบก็คือ กรณีของวงจรอุบาทว์เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อเนื่องในการเมืองไทยมายาวนาน ไม่บังอาจกล่าวหาว่าใครทำผิด ใครทำถูก และเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องทุกคนมีความรักชาติบ้านเมืองเช่นเดียวกัน เพียงแต่อยากจะบอกว่า กระบวนการประชาธิปไตยควรใช้กลไกประชาธิปไตยและให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

หากท่านผู้มีอำนาจยังพยายามที่จะนำอำนาจนอกระบบเข้ามาแก้ปัญหา วงจรอุบาทว์แบบนี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีที่สิ้นสุด และประเทศไทยที่รักของเราทุกคนก็ไม่มีวันที่จะก้าวพ้นกับดักหรือหลุมดำที่ผู้มีอำนาจหรืออำนาจนอกระบบสร้างมันขึ้นมาอย่างแน่นอน ความขัดแย้งที่วนเวียนในช่วง 10 ปีกับการรัฐประหารถึง 2 ครั้งน่าจะเป็นคำตอบได้อย่างดี

Back to top button