วิบากที่กลัดกระดุม
พล.อ.ประยุทธ์สั่งกองฝนหลวงเตรียมขึ้นบินทำฝนเทียม เพื่อดับไฟโรงงานย่านกิ่งแก้ว แต่แล้วต่อมาพล.ประยุทธ์คนเดียวกันก็ออกคำสั่งยกเลิกการทำฝนหลวง
พล.อ.ประยุทธ์สั่งกองฝนหลวงเตรียมขึ้นบินทำฝนเทียม เพื่อดับไฟโรงงานย่านกิ่งแก้ว แต่แล้วต่อมาพล.ประยุทธ์คนเดียวกันก็ออกคำสั่งยกเลิกการทำฝนหลวง
ก็ถือว่า ชาวกรุงเทพฯ และสมุทรปราการโชคดีไปนะครับ ที่การทำฝนหลวงไม่เกิดขึ้น เพราะหากเกิดก็จะกลายเป็นฝนที่มีสารเคมีเปรอะเปื้อน เป็นอันตรายต่อคนและแหล่งน้ำ กับอีกประการหนึ่ง แทนที่น้ำจะไปดับไฟ แต่นี่มันเป็นไฟที่เกิดจากสารเคมี
ดับได้ด้วยโฟมอย่างเดียว การเอาน้ำไปดับยิ่งจะโหมไฟเพิ่มขึ้น ชาวกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ผ่านบาปเคราะห์เพราะความไม่รู้ไปได้อย่างหวุดหวิดทีเดียว
นึกถึงภาพที่ครั้งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ พยายามจะชี้แจงนักข่าวต่างชาติให้เข้าใจในเรื่องพื้นฐานประชาธิปไตยไทยว่า ติดกระดุมเม็ดแรกผิดมาตั้งแต่ต้น
ถึงขั้นถามเจ้าหน้าที่ติดตามว่า “ติดกระดุม” ใช้คำอะไร นอกจากพูดอังกฤษตะกุกตะกักแล้ว ยังมีท่าประกอบติดกระดุมเม็ดแรกผิดให้นักข่าวได้ดูด้วย เห็นแล้วไม่รู้ว่าจะขำขันหรือร้องไห้ดี
ปัญหาใหญ่ที่สุดในบ้านเมืองเราเวลานี้ เห็นทีไม่มีปัญหาใดใหญ่เกินปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด การบริหารจัดการกับวิกฤต และวัคซีนที่ขาดแคลนทั้งปริมาณและคุณภาพ
เชื่อหรือว่า “120 วัน เปิดประเทศ” ที่จะครบกำหนดเอาในวันที่ 16 ต.ค.จะสามารถเปิดประเทศได้จริง!
ยอดสะสมอัตราการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 ถึง 7 ก.ค. 2564 ยังไปได้แค่ 11.6 ล้านโดสเอง เป้าหมายคือ 100 ล้านโดส แสดงว่ายังต้องฉีดกันอีก 88.4 ล้านโดส
ผ่านมาแล้ว 21 วันจากวันดีเดย์ (16 มิ.ย.) ภายในกรอบเส้นตาย 16 ต.ค.ก็เหลืออีก 101 วัน เท่ากับต้องฉีดโดยเฉลี่ยให้ได้วันละ 875,053.28 โดส ขณะที่การฉีดล่าสุด ณ 7 ก.ค. ฉีดรวมกันทั้งเข็มที่ 1 และ 2 เพียง 291,575 โดส เท่านั้น
เป้าหมาย 8.75 แสนโดสกับความเป็นจริงแค่ 2.91 แสนโดส ช่างห่างไกลกันลิบลับ มันจะเป็นจริงได้อย่างไร ยิ่งเดือนนี้ โดนแอสตราเซเนกา “เบี้ยว” จากคาดหมาย 10 ล้านโดส แต่มาจริงเหลือแค่ 5 ล้านโดส ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขต้องตอบคำถามข้อนี้ให้ได้ก่อนว่า จะแก้ปัญหากันอย่างไร
“วัคซีนทางเลือก” ที่รัฐบาลรับปากจะจัดหา อันได้แก่ ไฟเซอร์ จอห์นสันฯ สปุตนิค-วี และสั่งโมเดอร์นามาให้โรงพยาบาลเอกชน ก็คงเข้ามาไม่ทันแก้ไขเหตุการณ์
เพราะรัฐบาลรับปากส่งเดช เล่นเอาเรื่องไปดอง จนกระทั่งอัยการสูงสุดออกมาเปิดโปงว่า ไม่มีร่างสัญญาใดส่งมาให้อัยการตรวจทานเลย องค์การเภสัชกรรมถึงแจ้นเอาร่างสัญญาไปให้อัยการตรวจไวทันใจ เรื่องเพิ่งผ่านอัยการมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง
ขั้นตอน ก็คงจะเอ้อเร้อเอ้อเต่อต่อไปอีกนาน แล้วแต่ระบบราชการจะพาไปนั่นแหละ
ทบทวนเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง คือการบริหารวิกฤตโควิดและการฉีดวัคซีน ก็คงต้องย้อนกลับไปถึงคำพูดพล.อ.ประยุทธ์พูดเองว่า “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” นั่นแหละ
กลัดผิดเม็ดแรก ก็คือ “การแทงม้าตัวเดียว” ที่เลือกเอาวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนหลัก และเอาวัคซีนขัดตาทัพ “ซิโนแวค” ที่คุณภาพต่ำ และชักน่าสงสัยยิ่งขึ้นทุกทีในเรื่องผลประโยชน์ “เงินทอน” มาเป็นวัคซีนทางเลือก
เม็ดแรกผิดแล้ว เม็ดถัด ๆ มาก็ต้องผิดต่อไปเรื่อย ๆ ที่ไม่เลือกเข้าร่วม “โคแวกซ์” อันเป็นองค์กรจัดหาและกระจายวัคซีนนานาชาติที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่รัฐบาลไทย “ดูเบา” กว่าจะรู้ตัวก็สาย
“แอสตราเซเนกา” ที่เป็น “ม้าเต็ง” ก็ดันไม่มาตามนัด “ซิโนแวค” ที่คุณภาพต่ำก็ดันมีราคาแพงจนน่าสงสัย
ขณะเดียวกัน “ระบบสาธารณสุข” ก็ส่อเค้าจะล้มละลายไปแล้ว เนื่องจากอัตราผู้ป่วยพุ่งทะยานมากกว่าผู้รักษาหาย จึงเกิดปัญหาขาดแคลนเตียงตามมา
ถึงขั้นปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย และปล่อยผู้ป่วยดิ้นรนช่วยตนเองจนตายไปต่อหน้าต่อตา เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก
หลักคิดทางการแพทย์ก็เสียหายใหญ่หลวงไปเสียแล้ว แม้แต่เรื่องที่ไม่ควรเป็นปัญหาให้ถกเถียงกัน เช่นจะใช้วัคซีนชนิดใดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ อันถือเป็นนักรบแนวหน้าทำสงครามกับโควิด
คำตอบก็ควรจะชัดเจนทันทีว่า ก็ต้องเลือกวัคซีน mRNA-ไฟเซอร์สิ แต่แพทย์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงอำนาจดัน “คิดเพี้ยน” เป็นเรื่องจะเสียหน้าเสียตาเสียนี่
“ถ้าเอาไฟเซอร์ไปฉีดให้กลุ่มที่ 3 ก็เท่ากับเรายอมรับว่า ซิโนแวคไม่มีผลในการป้องกัน และจะแก้ตัวได้ยากมากยิ่งขึ้น” เอ้า! นี่รักซิโนแวคมากกว่าชีวิตของลูกศิษย์ตัวเองได้ยังไงเนี่ย
แว่วมาว่า สัปดาห์หน้า ก็คงจะมีประกาศ “ล็อกดาวน์” ที่เข้มข้นสูงสุด เพราะแนวโน้มการระบาดขึ้นสูงสู่ระดับ 1 หมื่นคน ไปแล้ว มันก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่า “ล็อกดาวน์เข้มข้น แต่ยังฉีดวัคซีนแบบหน่อมแน้ม ๆ เหมือนเดิม” มันจะล็อกกันให้เดือดร้อนไปทำไม
ติดกระดุมเม็ดแรกผิดไม่พอ ยังไม่แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิดอย่างรุนแรง จึงเป็นเรื่องยากจะให้อภัย