กทท. เร่งเสนอแหลมฉบังเฟส 3 เข้าบอร์ด “EEC” กลางเดือนนี้! ก่อนเซ็นสัญญาไม่เกินต้นส.ค.
กทท. เร่งนำเสนอแหลมฉบังเฟส 3 เข้าบอร์ด “EEC” จะประชุมในวันที่ 16 ก.ค.64 เพื่ออนุมัติร่างสัญญาและลงนาม และหลังจากนั้นจะรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบได้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยคาดว่าจะลงนามอย่างช้าไม่เกินต้นเดือน ส.ค.64
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่าทางคณะทำงานฯ ที่มีผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน และมีผู้แทนจากอีอีซี จากกทท.และฝ่ายกฎหมายอีอีซี ฯลฯ ไม่รับข้อเสนอซองที่ 5 และได้สรุปร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดไปเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว และมีการชี้แจงรายละเอียดไปแล้ว
โดยคาดว่าจะพิจารณาร่างสัญญาแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้าซึ่งตามขั้นตอน กทท.จะเร่งนำเสนอ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งจะประชุมในวันที่ 16 ก.ค.64 เพื่ออนุมัติร่างสัญญาและลงนาม และหลังจากนั้นจะรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อทราบได้ภายใน 2 สัปดาห์ โดยคาดว่าจะลงนามอย่างช้าไม่เกินต้นเดือน ส.ค.2564
สำหรับร่างสัญญา ซองที่ 5 เป็นข้อเสนอในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของ กลุ่ม GPC ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยคณะทำงานฯ พบว่า ซอง 5 มีข้อเสนออื่นๆ ไม่มีประเด็นที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ จึงไม่รับข้อเสนอดังกล่าว
ทั้งนี้โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปีนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับ ระยะที่ 1 ค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปร ที่ 100 บาทต่อทีอียู ซึ่งค่าสัมปทานคงที่ดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐคาดหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 32,225 ล้านบาท
“งานด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ กทท.ดำเนินการเองนั้นกทท.ได้ออกหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 แล้วมีระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 4 ปี โดยมีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ( CNNC ) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด เป็นรับจ้าง วงเงิน 21,320 ล้านบาท ซึ่งในการดำเนินกาการก่อสร้างทางทะเลนั้น กทท.ได้ตั้งงบสำหรับเยียวยาผลกระทบ วงเงิน ประมาณ 1,800 ล้านบาท ในระยะ 6 ปี (ระหว่างก่อสร้าง 4 ปี และหลังก่อสร้างเสร็จ 2 ปี) โดยแบ่งเป็น2 กลุ่ม คือ กลุ่มประมงเล็ก และกลุ่มเลี้ยงหอย โดยอยู่ระหว่างทำข้อมูลและทยอยจ่ายเยียวยา” เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวว่า