สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ก.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ก.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย.อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยความกังวลดังกล่าวได้สกัดปัจจัยบวกจากรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสในวันนี้และวันพรุ่งนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,888.79 จุด ลดลง 107.39 จุด หรือ -0.31% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,369.21 จุด ลดลง 15.42 จุด หรือ -0.35% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,677.65 จุด ลดลง 55.59 จุด หรือ -0.38%

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกับการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย. ซึ่งอาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 460.96 จุด ขยับขึ้นเพียง 0.13 จุด หรือ +0.03%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,558.47 จุด ลดลง 0.78 จุด หรือ -0.01%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,789.64 จุด ลดลง 0.87 จุด หรือ -0.01% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,124.72 จุด ลดลง 0.70 จุด หรือ -0.01%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นซึ่งอาจจะกระทบแผนการเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่หุ้นกลุ่มเดินทางและกลุ่มพลังงานถ่วงตลาดลง

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,124.72 จุด ลดลง 0.70 จุด หรือ -0.01%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8 ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์พลังงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 75.25 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2561

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.33 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 76.49 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ปีนี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก ยังเป็นอีกปัจจัยที่หนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 4 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,809.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 9.9 เซนต์ หรือ 0.38% ปิดที่ 26.14 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 11.8 ดอลลาร์ หรือ 1.05% ปิดที่ 1,111.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 26.80 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 2,832.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งช่วยหนุนคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสในวันนี้และวันพรุ่งนี้

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.54% แตะที่ 92.7538 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.59 เยน จากระดับ 110.33 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9186 ฟรังก์ จากระดับ 0.9154 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2518 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2465 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1782 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1857 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3820 ดอลลาร์ จากระดับ  1.3874 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7445 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7473 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button