โอลิมปิกอันเงียบเหงา
ศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม หรืออีกแค่ 7 วันข้างหน้า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน “โตเกียว 2020” จะเริ่มต้นเป็นทางการและดำเนินต่อไปอีกจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม หลังจากที่เลื่อนมา 1 ปี
ศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม หรืออีกแค่ 7 วันข้างหน้า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน “โตเกียว 2020” จะเริ่มต้นเป็นทางการและดำเนินต่อไปอีกจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม หลังจากที่เลื่อนมา 1 ปี
ถัดจากนั้น การแข่งขันกีฬา “พาราลิมปิก” สำหรับคนพิการ จะมีขึ้นตามกำหนดการเดิมคือ ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคมถึง 5 กันยายน หรือว่าจะเลื่อน หรือยกเลิกไปเลย ยังต้องรอผลการประชุมร่วมในวันนี้ที่โตเกียวของ 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น เทศบาลเมืองโตเกียว (ที่เป็นเจ้าภาพตัวจริงทางนิตินัย) และคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC
หากโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิก สามารถดำเนินการได้ ถือว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาที่เงียบเหงาที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะการแข่งขันทุกชนิดในกรุงโตเกียว จะมีการห้ามคนทั้งญี่ปุ่น และต่างชาติเข้าชมและเชียร์ในสนาม จะมีข้อยกเว้นคือการแข่งขันนอกโตเกียวจะอนุญาตให้มีจำนวนผู้ชมเฉพาะชาวญี่ปุ่นในจำนวนจำกัดมาก
การแข่งขันกีฬาที่ถือว่าคนเข้าชมและเชียร์คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สนามกีฬาเปรียบได้กับพิธีกรรมทางศาสนาร่วมสมัย จึงสั่นคลอนอย่างยิ่ง
ที่สำคัญการควบคุมนักกีฬาและคณะที่เข้าร่วมการแข่งขันอย่างเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาด (เช่นนักกีฬาจากสหราชอาณาจักรที่มีการสุ่มตรวจทุกวัน) อาจส่งผลเสียหายต่อขวัญและกำลังใจของนักกีฬารุนแรง
การแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ จึงเป็นการแข่งขันที่ไร้คุณค่า แต่ก็คงต้องดันทุรังให้มีขึ้น แม้จะรู้ทั้งรู้ว่างานนี้จะต้องขาดทุนยับเยินก็ตาม
เหตุผลเบื้องหลังการดันทุรังเกิดขึ้นจากต้นทุนของการขาดทุนจากการจัดการแข่งขันต่ำกว่าการเลื่อนออกไปหรือ ยกเลิกมากมาย ปีที่ผ่านมาตัวเลขต้นทุนของการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้เพิ่มขึ้นมากถึง 22% เป็นที่ระดับ 154 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากต้นทุนของความล่าช้าหนึ่งปี ค่าใช้จ่ายมาจากการเจรจาสัญญาประกันภัยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก และมาตรการใหม่เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่
ความเสียหายของกลุ่มบริษัทรับประกันภัยต่อทั่วโลก ซึ่งมีศูนย์กลางที่ลอนดอน (ลอยด์) จากการเลื่อนการแข่งขันในปีก่อนยังถูกเก็บงำตัวเลขกันเอาไว้ (เฉพาะ Swiss Re ซึ่งเป็นธุรกิจจดทะเบียนมหาชน ต้องเปิดเผยว่าค่าเสียหายส่วนของบริษัทประมาณ 50 ล้านดอลลาร์) แต่ก็มีการประเมินมาแล้วว่าแม้จะต่ำจนสามารถแบกรับไหว แต่การเลื่อนซ้ำซาก หรือยกเลิก จะสร้างความเสียหายทางตรงประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ แต่โดยรวมแล้วอาจจะมากถึง 5-6 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นเรื่องใหญ่สุดที่เหลือเชื่อ และอาจจะสะเทือนถึงขั้นบางรายล้มละลายได้
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ทางเทศบาลเมืองโตเกียวได้ทำประกันภัยไว้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ บวกกับการประกันภัยในส่วนของการดำเนินการอีก 600 ล้านดอลลาร์
IOC ลงทุนทำประกันภัยวงเงินประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สำหรับเกมฤดูร้อนแต่ละเกม ซึ่งครอบคลุมการลงทุนส่วนใหญ่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละเมืองเจ้าภาพ
นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดงานท้องถิ่นในโตเกียวจะออกนโยบายทำประกันภัยเพิ่มเติม ประมาณ 650 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ผู้แพร่ภาพกระจายเสียงจะได้รับการประกันด้วยเงินก้อนใหญ่เช่นกัน
เดิมพันของบริษัทรับประกันภัยต่อกับกีฬาโอลิมปิกที่ในอดีต เคยเป็น “ของตาย” ที่ทำกำไรมหาศาลให้ยักษ์ระดับโลกมายาวนาน จึงไม่น่าแปลกที่คราวนี้จะมีคนรับความเสี่ยงรายใหญ่อย่าง มิวนิกรี ได้รับไปประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ และ Swiss Re มีมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ปีก่อน บริษัทประกันสัญชาติเยอรมัน Allianz ได้ลงนามในสัญญาประกันภัยระยะเวลาแปดปีกับ IOC ซึ่งครอบคลุมการแข่งขันกีฬาฤดูหนาวและฤดูร้อน ในปารีสในปี 2567 และลอสแอนเจลิสในปี 2571
เสียงต่อต้านการดันทุรังของรัฐบาลญี่ปุ่น และ IOC จากบรรดาผู้ให้การสนับสนุนที่พากันถอนตัวอย่างฮิโรชิ มิกิทานิ ซีอีโอของบริษัทเกม Rakuten ที่บอกว่าเป็น “ภารกิจฆ่าตัวตาย” และ มาซาโยชิ ซอน ซีอีโอของ Softbank ยักษ์ใหญ่มือถืออันดับสองของญี่ปุ่น ที่ระบุว่า “ใครเป็นผู้ผลักดันให้เกิดมัน มีสิทธิ์อะไร” ขณะที่ในเดือนพฤษภาคม 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจสนับสนุนการยกเลิก หรือเลื่อนการแข่งขัน และสมาคมแพทย์แห่งโตเกียวระบุว่า โรงพยาบาลในโตเกียว “มีเตียงเต็มและแทบไม่มีที่ว่าง” จึงเบาหวิว
น่าเสียดายที่การแข่งขันกีฬาใหม่ ๆ อย่าง บาสเก็ตบอล 3×3 การแข่งจักรยาน BMX ฟรีสไตล์ และการปั่นจักรยานแบบผลัด (เมดิสัน) คาราเต้ ปีนเขา เล่นกระดานโต้คลื่น และสเก็ตบอร์ด รวมทั้งการกลับมาของเบสบอลและซอฟต์บอล ในสนามที่ไร้ผู้ชม หลังจากที่ทางการญี่ปุ่นเพิ่งประกาศฉุกเฉินในโตเกียวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 22 สิงหาคม หลังจากที่พบเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดระลอกใหม่เพิ่มขึ้นในโตเกียวเป็นวันละ 920 ราย (เพิ่มเกินกว่าวันละ 1 พันรายแล้ว เมื่อวันที่ 14 และงดออกวีซ่าเข้าประเทศสำหรับพลเมืองจาก 159 ประเทศ
เจ้าหน้าที่บางคนที่รับผิดชอบเรื่องการจัดงาน ยังคงยืนยันว่า พวกเขาสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างปลอดภัยกับแฟน ๆ บางคนในขณะที่ร้องขอให้ประชาชนไม่รวมตัวกันบนถนนสาธารณะ เช่น การแข่งขันไตรกีฬา มากเกินไป
นางเซโกะ ฮาชิโมโตะ ประธานจัดการแข่งขันครั้งนี้ ล่าสุด ออกมาขอโทษที่จำต้องจัดการแข่งขันในรูปแบบที่จำกัด และคืนเงินค่าตั๋วเข้าชมทั้งหมด