ICHI ลุ้น ‘กำไร Q2’ โตไม่แคร์โควิด
มีการวิเคราะห์ต่อกำไรปกติของ ICHI ในไตรมาส 2/64 จะอยู่ระดับ 155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อน
คุณค่าบริษัท
มีการวิเคราะห์ต่อ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI เบื้องต้นประเมินว่ากำไรปกติในไตรมาส 2/2564 จะอยู่ระดับ 155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อน ด้วยยอดขายยังเติบโตดีจากการออกสินค้าใหม่ทั้งน้ำด่าง 8.5 ผสมใบแปะก๊วย และเครื่องดื่มผสมเทอร์ปีน หนุนยอดขายเพิ่ม
ตามด้วยการขายผ่านร้านโซห่วย หรือ Traditional trade (47% ของช่องทางขาย) เติบโตดีชดเชยช่องทางขาย Modern trade ที่หดตัวจากได้ประโยชน์มาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ขณะที่รับรู้รายได้ OEM กับลูกค้า King power เป็นไตรมาสแรก และตลาดส่งออกหลักอย่างกัมพูชาเริ่มฟื้นตัวเพิ่มขึ้น 25% จากไตรมาสก่อน จากการร่วมทำโปรโมชันกับ Distributor และกัมพูชามีอัตราการฉีดวัคซีนได้ไวกว่าไทยที่ 32% ของประชากร ทำให้ภาพรวมคาดเห็นอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น หนุนอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัว
สิ่งสำคัญ เมื่อวิเคราะห์ฐานะทางการเงินเพื่อเป็นตัวแปรในการตัดสินใจต่อการลงทุน พบว่าฐานะทางการเงินของบริษัทยังมีความแข็งแกร่งมาก เพราะบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากถึง 1,760.13 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนเพียง 828.07 ล้านบาท ได้ค่า CURRENT RATIO อยู่ที่ระดับ 2.13 เท่า ถือว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังมีพอสมควร มิหนำซ้ำอาจก่อให้เกิดทุนจม
ส่วนหนี้สินของบริษัทไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เพราะบริษัทมีหนี้สินรวมแค่ 950.04 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นมากถึง 6,402.41 ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ 0.15 เท่า แสดงว่าบริษัทยังปลอดจากภาระหนี้ จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ ทาง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ประเมินแนวโน้มช่วงที่เหลือของปีแม้ยังเจอผลกระทบโควิด-19 แต่คาดเห็นการเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนทุกไตรมาส โดยมีการรับรู้รายได้ OEM จาก Asahi ลูกค้ารายที่ 2 ที่จะเริ่มเข้ามาในไตรมาส 3/2564 จะหนุนให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อจากไตรมาสก่อน
ขณะที่ตลาดอินโดนีเซียยังมั่นใจเป้าส่วนแบ่งกำไรปีนี้ที่อย่างน้อย 30 ล้านบาท จากล่าสุดได้ Product champion ตัวที่ 2 คือ Brown Sugar milk และกำลังอยู่ในเฟสขยาย ช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่ม และ Upside ในสินค้ากัญชงจากทั้งของบริษัท และลูกค้า OEM ที่จะเข้ามาเสริมช่วงไตรมาส 4/2564
ส่วนผลกระทบโควิด-19 ยังถือว่าอยู่ในประมาณการที่เดิมทำไว้แบบอนุรักษนิยม (ครึ่งแรกปี 2564 คิดเป็น 44% ของกำไรทั้งปี) แต่ในระยะสั้นคาดมีแรงกดดันจาก Consensus ที่จะปรับลดประมาณการกำไรลง ซึ่งมองเป็นจังหวะให้สะสม กับบริษัทที่มีปัจจัยเฉพาะตัวโดดเด่น ได้รับผลกระทบจำกัดและฟื้นได้ไวกว่ากลุ่มการบริโภคในประเทศ และมี Upside risk ในธุรกิจกัญชงและกระท่อม ที่จะมาต่อ S-curve ให้ธุรกิจ Functional drink ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ดังนั้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 16.60 บาท
…
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
- นายตัน ภาสกรนที 360,639,600 หุ้น 27.74%
- นายจารุวร สุขพันธุ์ถาวร 67,491,800 หุ้น 5.19%
- นางอิง ภาสกรนที 60,000,000 หุ้น 4.62%
- ด.ญ.ใกล้นที ภาสกรนที 60,000,000 หุ้น 4.62%
- นายภาสกร ภาสกรนที 60,000,000 หุ้น 4.62%
รายชื่อกรรมการ
- นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริษัท, ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการผู้อำนวยการ
- นายวิโรจน์ สุภาสูรย์ กรรมการ
- นายธนพันธุ์ คงนันทะ กรรมการ
- น.ส.อารยา พานิชายุนนท์ กรรมการ
- นายธิติ จิรนนท์กาล กรรมการ