สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ก.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 ก.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อวันศุกร์ (23 ก.ค.) และปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งได้กระตุ้นให้นักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นในตลาด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,061.55 จุด เพิ่มขึ้น 238.20 จุด หรือ +0.68%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,411.79 จุด เพิ่มขึ้น 44.31 จุด หรือ +1.01% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,836.99 จุด เพิ่มขึ้น 152.39 จุด หรือ +1.04%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ค.) เป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักลงทุนได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่ง และการยืนยันจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะยังคงสนับสนุนด้านการเงินต่อไปนั้นได้ช่วยบดบังปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้น

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 461.51 จุด เพิ่มขึ้น 4.98 จุด หรือ +1.09%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,568.82 จุด เพิ่มขึ้น 87.23 จุด หรือ +1.35%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,669.29 จุด เพิ่มขึ้น 154.75 จุด หรือ +1.00% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,027.58 จุด เพิ่มขึ้น 59.28 จุด หรือ +0.85%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มเหมืองแร่ นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของหุ้นโวดาโฟนหลังการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งช่วยหนุนตลาดด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,027.58 จุด เพิ่มขึ้น 59.28 จุด หรือ +0.85%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ค.) โดยฟื้นตัวขึ้นหลังจากร่วงลงอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าปริมาณน้ำมันในตลาดโลกจะยังตึงตัวไปจนถึงสิ้นปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 16 เซนต์ หรือ 0.20% ปิดที่ 72.07 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 0.70% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.40% ปิดที่ 74.10 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้น 0.70% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมถึงการปรับตัวขึ้นทำนิวไฮของตลาดหุ้นสหรัฐได้ลดความน่าสนใจของสัญญาทองคำในฐานะที่เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 3.60 ดอลลาร์ หรือ 0.20% ปิดที่ 1,801.80 ดอลลาร์/ออนซ์ และลดลง 0.70% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 14.80 เซนต์ หรือ 0.58% ปิดที่ 25.233 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 29.20 ดอลลาร์ หรือ 2.68% ปิดที่ 1,061.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 42.20 ดอลลาร์ หรือ 1.60% ปิดที่ 2,662.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ค.) หลังจากนักลงทุนปรับตัวรับการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐที่ลดลงในเดือนก.ค. และนักลงทุนได้เข้าซื้อดอลลาร์ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.09% แตะที่ 92.9104 เมื่อวันศุกร์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1770 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1771 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3752 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3774 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7364 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7387 ดอลลาร์

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.55 เยน จากระดับ 110.14 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9202 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9190 ดอลลาร์ และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2575 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2556 ดอลลาร์แคนาดา

 

 

Back to top button