DELTA กำไรหด-เงินสดหาย

หลังป้วนเปี้ยนอยู่ในคุกแคชบาลานซ์ หรือมาตรการกำกับการซื้อขายมานานหลายเดือน กรณีหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA...ครั้นพอออกจากคุกแคชบาลานซ์ปุ๊บ (เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564) ก็สร้างความปั่นป่วนต่อดัชนีโดยรวมปุ๊บ ราคาหุ้นวิ่งกระจุยกระจาย ทำให้ดัชนีหุ้นไทยผิดเพี้ยนไปหมด...


หลังป้วนเปี้ยนอยู่ในคุกแคชบาลานซ์ หรือมาตรการกำกับการซื้อขายมานานหลายเดือน กรณีหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA…ครั้นพอออกจากคุกแคชบาลานซ์ปุ๊บ (เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564) ก็สร้างความปั่นป่วนต่อดัชนีโดยรวมปุ๊บ ราคาหุ้นวิ่งกระจุยกระจาย ทำให้ดัชนีหุ้นไทยผิดเพี้ยนไปหมด…

โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ปิดตลาดที่ 652 บาท ราคาปรับขึ้น 78 บาท หรือปรับขึ้นไป 13.59% มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 6,581 ล้านบาท

แต่ออกมาระริกระรี้ได้แค่วันเดียว ก็ถูกจับเข้าสู่คุกแดน 2 หรือระดับ 2 อีกรอบ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.-5 ส.ค. 2564 หยุดอภินิหารหุ้น DELTA ไปได้ชั่วขณะ..!! (แต่น่าแปลกไม่ยักถูกจับเข้าคุกแดน 3 ซึ่งเป็นโทษสูงสุดของมาตรการกำกับการซื้อขายสักกะที..?? ทั้ง ๆ ที่สร้างความปั่นป่วนมาอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่รู้ว่าหุ้นตัวนี้มีดีอะไรอ่ะนะ)

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดจาก 1) เป็นมันนี่เกม คนอยากออกของ ก็เลยเกิดการไล่ราคากัน และ 2) ถูกมองว่าธีมชิ้นส่วนจะดี บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนยวบยาบ (ล่าสุดใกล้ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเต็มทีแล้ว) ก็ถูกมองว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะดี หนึ่งในนั้นก็รวม DELTA อยู่ด้วย

แต่พอ DELTA เปิดงบไตรมาส 2/2564 ออกมากลับหงายเงิบกันเป็นแถว…กำไรสุทธิหายไป 17.9% เหลือแค่ 1,655 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,015 ล้านบาท

โอเค…แม้ยอดขายสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น 41.2% อยู่ที่ 20,640 ล้านบาท จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น และราคาขายต่อหน่วยที่สูงขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นดีขึ้น อยู่ที่ 4,459 ล้านบาท แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อยู่ที่ 2,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสนี้เหลือแค่ 1,329 ล้านบาท ลดลง 25.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,789 ล้านบาท

พอไปดูตัวเลขสำคัญทางการเงินอื่น ๆ ก็น่าสนใจ…อย่างกระแสเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ…โดยสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 DELTA มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 8,573 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 13,882 ล้านบาท

ซึ่ง DELTA ให้เหตุผลว่า นำไปใช้สร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในประเทศไทยและอินเดีย รวมถึงจ่ายปันผลจำนวน 4,116 ล้านบาท…ก็ไม่ว่ากัน

แต่น่าจับตาว่า โรงงานทั้ง 2 แห่งจะไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ DELTA ในอนาคตได้มากน้อยแค่ไหน..?

อีกตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ที่สินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น 4,491 ล้านบาท หรือ 35.5% มาอยู่ที่ 17,146 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยอด ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 12,655 ล้านบาท…ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์กำลังและระบบ (Power & Systems) รวมถึงกลุ่มโซลูชันสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Solutions)

ทว่าการมีสินค้าในสต๊อกเยอะอย่างนี้ ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะสิ่งที่จะตามมา 1) ต้นทุนในการบริหารจัดการ 2) ค่าเสื่อมของสินค้าบางอย่าง และ 3) ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ

ก็ไหนบอกว่าออเดอร์ล้นทะลัก แต่ทำไมส่งออกไม่ได้…ถ้าสินค้าส่งมอบทันก็จะนำมาซึ่งรายได้และกำไร แต่ทำไมสต๊อกเหลือเยอะ ทั้ง ๆ ที่ดีมานด์เพิ่มตามเทรนด์ตลาดโลก แล้วเห็นได้ชัดจากการใช้เงินสดสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ก็เพื่อขยายกำลังการผลิต รองรับออเดอร์มิใช่เหรอ…

ก็น่าคิดนะว่า สต๊อกที่เหลือบานเบอะขนาดนี้…แสดงว่ายอดขายมีปัญหาหรือเปล่าเนี่ย..?

ขณะที่ลูกหนี้การค้าสุทธิและลูกหนี้อื่นเพิ่มขึ้น 30% อยู่ที่ 18,189 ล้านบาท นั่นแปลว่า มีออเดอร์ แต่ยังไม่ได้ขายหรือเปล่า..?

เอาเป็นว่า DELTA จะดีจริง หรือดีแบบทิพย์ ๆ…อันนี้มิอาจทราบได้

แต่เชื่อว่าอีกไม่นานคงได้รู้กัน…

…อิ อิ อิ…

Back to top button