สธ.เร่งแก้ปัญหา “ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ” แออัด – ปรับ hospitel รองรับกลุ่มสีเหลือง
สธ.ขอโทษประชาชนหลังจาก “ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ” มีคนเข้ารับบริการอย่างหนาแน่น พร้อมเร่งปรับ hospitel เป็นเตียงเหลือง จึงขอความร่วมมืองดเดินทางออกจากบ้านและรักษาระยะห่างอย่างเข้มงวด
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัญหาของการให้บริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา คือความแออัดของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้บริการวัคซีน เนื่องจากทางศูนย์บางซื่อได้เปิดให้ประชาชนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม และผู้ที่ตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ สามารถ Walk-in มาฉีดวัคซีนได้ ซึ่งหลังจากการประกาศแผนดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาเนื่องจากมีผู้ Walk-in จำนวนมากเกินไป ทางศูนย์ฯ จึงไม่สามารถบริหารจัดการดูแลประชาชนทุกรายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งช่วงเช้าวันนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่วันนี้ เวลา 9.00 น. ได้ประกาศให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนรับบริการฉีดวัคซีนผ่านค่ายมือถือทั้ง 4 ค่ายนั้น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการจัดสรรจำนวนวัคซีน ที่เน้นการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุก่อน ส่วนกลุ่มอายุ 18-59 ปี จะได้รับจัดสรรในสัดส่วนที่น้อยลง จึงได้มีการเลื่อนการลงทะเบียนเป็นเวลา 11.00 น. อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนดังกล่าวจำเป็นต้องมีการจำกัดจำนวนผู้ลงทะเบียน
“กราบขออภัยประชาชนจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องความแออัดของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 วันก่อน และเรื่องการเลื่อนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านค่ายมือถือในวันนี้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้านนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ คือจะฉีดวัคซีนให้ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน กทม., ผู้ที่ทำงานในกทม. แต่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด, ผู้สูงอายุในกทม. และปริมณฑล (มีภูมิลำเนาที่ชัดเจน), ผู้ไร้บ้าน และเมื่อจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนคนไทยครอบคลุมแล้วจะจัดสรรให้ชาวต่างชาติ ที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายต่อไป
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาการลดความแออัดของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้วางแนวทางไว้ดังนี้
- เปิดประตูศูนย์ฯ ให้เร็วขึ้น และให้ผู้มารับบริการ Register โดยไม่วัดความดันโลหิต
- ปรับระบบการเข้าแถวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้หางแถวแต่ละประตูชนกัน
- ย้ายที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ (ประตู 4) และรถสุขาออกจากพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับผู้รับบริการ
- ประสานการระบายผู้รับบริการทุกประตูในภาพรวม (ไม่แยกบริหารจัดการ)
- มอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละประตูอย่างชัดเจน และ
- เน้นให้ยืนบนสติกเกอร์ 2,400 จุด
สำหรับสถานการณ์ของเตียงในพื้นที่กทม. ขณะนี้เตียงสีเหลือง และสีแดงมีไม่เพียงพอ เนื่องจากกทม. พบผู้ติดเชื้อเกือบ 5,000 ราย/วัน ซึ่งถือว่าเกินขีดความสามารถในการรองรับของสาธารณสุขไปแล้วถึง 5 เท่า ทางออกของปัญหานี้คือการทำ Home Isolation (HI) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่อาการไม่หนัก ในขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับ Hospitel หลายแห่งให้เป็นเตียงสีเหลือง โดยจะมีการติดตั้งถังออกซิเจนประมาณ 20% ในแต่ละแห่ง อย่างไรก็ดี ไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนไปมากกว่านี้ได้ เนื่องจากเกรงว่าการที่ถังออกซิเจนอยู่รวมกันจำนวนมากอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ประกอบกับอยู่ระหว่างประสบปัญหาขาดแคลนถังออกซิเจน
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายเตียงสีเหลือง และสีแดงเพิ่ม แต่ยอมรับว่าไม่ว่าจะขยายเตียงอย่างไร ก็คงไม่เพียงพอ เนื่องจากเราไม่สามารถขยายกำลังคนที่จะมาดูแลผู้ป่วยได้ หากในช่วง 2-4 อาทิตย์นี้ถ้าสามารถกด Curve ของการระบาดได้ดี เตียงในรพ. อาจกลับมาเพียงพอ จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคนดำเนินตามแนวทางต่างๆ ที่เคยให้ไว้ ทั้งงดเดินทางออกจากบ้าน เว้นระยะห่าง และไม่รับประทานอาหารร่วมกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ จำนวน 1.5 ล้านโดสว่า ขณะนี้วัคซีนอยู่ระหว่างการขนส่งโดยเครื่องบิน ซึ่งคาดว่าจะมาถึงประเทศไทยเวลา 04.00 น. ของวันที่ 30 ก.ค. 64 ซึ่งหลังจากวัคซีนมาถึงแล้ว จะนำไปจัดเก็บในคลังวัคซีนที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส โดยหลังจากนี้จะมีการอบรมบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องการผสมวัคซีนด้วยน้ำเกลือเพื่อลดความเข้มข้น โดย 1 ขวดสามารถฉีดให้ประชาชนได้ 6 คน ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการมาจัดสรรการกระจายวัคซีนไปยังที่ต่างๆ ต่อไป ส่วนวัคซีนที่จะได้รับบริจาคเพิ่มจากสหรัฐฯ อีก 1 ล้านโดสนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความแน่ชัดของการดำเนินการ โดยเมื่อมีความคืบหน้าจะทำการแจ้งความชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อในกทม. สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง โดยกลุ่ม CCRT (Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team : Bangkok ) ได้ลงพื้นที่เชิงรุกฉีดวัคซีนแล้ว 59,708 ราย โดยในกทม. มียอดสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 แล้ว 5,668,720 โดส จากประชากรในกทม. ทั้งหมด 7,699,174 คน ซึ่งถือว่ากทม. สามารถฉีดวัคซีนได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ว่าในเดือนก.ค. 64 ต้องฉีดวัคซีนให้เกินจำนวน 5 ล้านคน โดยในวันนี้สามารถฉีดวัคซีนเพิ่มได้ทั้งหมด 92,206 โดส
ทั้งนี้ จากการสำรวจการฉีดวัคซีนของประชาชนใน กทม.ทั้งหมด 50 เขต จำนวน 1,500 คน ในวันที่ 24-25 ก.ค. 64 พบว่าฉีดวัคซีนแล้ว 76.5% และยังไม่ฉีดวัคซีน 23.5% ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าฉีดวัคซีนแล้ว 79.92% โดยส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 47.3% วัคซีนซิโนแวค 28.3% และอีก 1% เป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงชนิดวัคซีนที่คนกรุงเทพฯ ต้องการมากที่สุด 46.3% คือไฟเซอร์ อันดับสอง โมเดอร์นา 27.5% และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 9.3% ขณะที่มีผู้ตอบว่ายี่ห้ออะไรก็ได้ขอให้ได้ฉีดในสถานการณ์ที่มีคนติดเชื้อในปริมาณมาก 2.8%
ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 79% เห็นว่า ควรไปฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจาก 1) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง 2) กลัวการติดเชื้อและผลข้างเคียงที่เกิดจากการเจ็บป่วย 3) จะได้ใช้ชีวิตปกติ 4) กลัวรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือ 5) ไม่มีทางเลือก 6) ลงทะเบียนจองโดยโอนเงินจองไปแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 21% ไม่อยากไปฉีดสาเหตุจาก 1.กลัวผลข้างเคียงของวัคซีน 2.อยากฉีดวัคซีนทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังไม่เข้ามาในไทย
ส่วนของความวิตกกังวลในสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่นี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80% มีความวิตกกังวลมาก โดยสาเหตุ คือ กลัวติดเชื้อโควิด 19 รองลงมา คือเรื่องปัญหารายได้ลดลงและขาดรายได้ ด้านการเรียนไม่ต่อเนื่อง และกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน/ได้รับวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ด้าน พ.ญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ให้ได้ตามเป้า 70% ภายในสิ้นเดือนก.ค. 64 โดยกลุ่ม CCRT ทั้งหมด 260 ทีม จะดำเนินงานตามเป้าหมาย 2,016 ชุมชน 50 เขตให้บริการทั้งให้ความรู้ ตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kid (ATK) และบริการฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ให้ครอบคลุมภายในสิ้นเดือนนี้เช่นกัน หลังจากนั้นในเดือนส.ค. จะทำการดูแลชุมชนอื่นๆ นอกเหนือจาก 1,600 ชุมชนตามแนวทางที่ สธ. กำหนดต่อไป