วาทกรรมพิษขี่พายุ ทะลุฟ้า
ยุคหนึ่ง คำว่า “โอท็อป” หรือ “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์” โด่งดังมาก พอเกิดการเปลี่ยนแปลงทางบ้านเมือง ผู้ทรงอำนาจยุคนั้น ก็เลยจัดการลบชื่อเก่า และปรับเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่
ยุคหนึ่ง คำว่า “โอท็อป” หรือ “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์” โด่งดังมาก พอเกิดการเปลี่ยนแปลงทางบ้านเมือง ผู้ทรงอำนาจยุคนั้น ก็เลยจัดการลบชื่อเก่า และปรับเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่
คำว่า“โอท็อป” หายไป แต่กลายมาเป็น “ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ซึ่งก็เชยดี
ไม่น่าเชื่อว่า คนตั้งชื่อใหม่นี้ จะเป็นโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานธนาคารกรุงเทพ ซึ่งยุคนั้นได้เข้าไปรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยขิงแก่
ไม่ว่าจะโหมโฆษณาอย่างไร ชื่อใหม่ก็ไม่ติดปากคน ชื่อ“โอท็อป” จึงยังคงติดปากคนมาถึงทุกวันนี้
“ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ขายไม่ออก พอตั้งชื่อก็ดับสูญแต่บัดนั้น
กองทุนหมู่บ้านก็เช่นกัน มีการทุบกันแล้วทุบกันอีก แต่ก็ยังไม่สูญสลายหายไปไหนสักที มิหนำซ้ำ ยังมีการยกระดับปรับเพิ่มเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านระดับคุณภาพขึ้นอีก
ยังไม่ยักจะมีชื่อใหม่ให้กองทุนหมู่บ้านแฮะ
กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า นับเป็นเกียรติอย่างสูงส่ง ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำไปอวดผลงานด้วยความภาคภูมิใจให้ชาวโลกได้รับรู้รับทราบในการประชุมใหญ่สหประชาชาติปีนี้
กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกว่า “บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค” นี่ก็เป็นชุดความคิดเดียวกับโอท็อปและกองทุนหมู่บ้านนั่นแหละ
กองทุนตำบลละ 5 ล้านบาท รากฐานพัฒนาการก็มาจาก“เงินผัน” อันลือลั่นยุคอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์นั่นแหละ แต่เพ่งพินิจลึกซึ้งดู หน้าตาจะละม้ายคล้ายคลึงกับโครงการ SML ของทักษิณมากกว่า
มันก็คือชุดความคิดที่มาจากหลักนโยบายใหญ่ นั่นคือประชานิยม ซึ่งก็มีที่มาจากทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง
จาก “ประชานิยม” อันเป็นคำแสลง ท่านก็ให้เรียกใหม่เป็น“ประชารัฐ” อันเป็นคำที่มีมาช้านานแล้ว พบประจักษ์พยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ในเพลงชาติไทยของพระเจนดุริยางค์นั่นไง
“รากหญ้า” ท่านก็ไม่ให้ใช้ เพราะนัยยะให้อารมณ์ไปในทางชนชั้นมากเกินไป ท่านให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า“ฐานราก” จะไพเราะเสนาะหูมากกว่า
ยุคนี้ อย่ามาถามเชียวว่า “ชื่อนั้น สำคัญไฉน” แล้วแต่ท่านผู้นำจะลิขิตบัญชาก็แล้วกัน
ส่วนมันจะมีเหตุมีผลเพียงใด เป็นเรื่องที่คิดได้ แต่ก็ควรคิดไว้ในใจ ห้ามแพร่งพรายออกมาภายนอก จะเป็นความอยู่รอดปลอดภัยที่สุด
พฤติกรรม “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในสังคมทั่วไป แต่หากเป็นโรคนี้ในระดับชาติ โดยเฉพาะในระดับผู้นำ ก็จะเป็นการกัดกร่อน สร้างความแตกแยกในแผ่นดินเป็นอย่างสูง
มันจะกลายเป็นว่า ฝ่ายหนึ่ง ทำอะไรก็ผิดหมด ไม่เหลือที่ยืนในสังคม ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ทำอะไรก็ถูกหมด ก็เลยเดินหน้าบดขยี้อีกฝ่ายหนึ่งอย่างเมามัน
แล้วผู้นำ ก็เอียงกระเท่เร่ เข้าข้างฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ได้ว่า เข้าข้างฝ่ายใด
สัญญาประชาคม ที่ให้คำมั่นไว้ในยูเอ็นว่า จะเร่งพลิกฟื้นสันติสุข สร้างความสามัคคีปรองดองในสังคมไทย ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
ก็ยังมีคำถามว่า มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในเมื่อก่นด่าประชานิยม เป็นตัวกัดกร่อนสังคมไทย ต้องทำลายเผ่าพันธุ์ผู้ทำประชานิยมให้สิ้นซาก แต่ก็แอบใช้บริการประชานิยมกันเต็มเปา
เพียงแต่เลี่ยงบาลี เพื่อสงวนรักษากีฬาสีไว้เท่านั้น