พาราสาวะถี
อาจเป็นชัยชนะอันงดงามที่สร้างความดีใจอย่างยิ่งให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมสาดกระสุนยางและแก๊สน้ำตา สลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้สำเร็จ จนถึงขนาดให้โฆษกรัฐบาลออกมาประกาศขอบคุณตำรวจ แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลสืบทอดอำนาจยังไม่จบ เพราะมีการนัดหมายชุมนุมต่อเนื่องอย่างน้อยก็วันที่ 10 สิงหาคมนี้ที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดร่วมกันไล่บี้ 5 ทรราช!
อาจเป็นชัยชนะอันงดงามที่สร้างความดีใจอย่างยิ่งให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมสาดกระสุนยางและแก๊สน้ำตา สลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้สำเร็จ จนถึงขนาดให้โฆษกรัฐบาลออกมาประกาศขอบคุณตำรวจ แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลสืบทอดอำนาจยังไม่จบ เพราะมีการนัดหมายชุมนุมต่อเนื่องอย่างน้อยก็วันที่ 10 สิงหาคมนี้ที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดร่วมกันไล่บี้ 5 ทรราช!
เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าวิธีการของเยาวชนปลดแอกกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลุ่มแรกมักจะแสดงออกด้วยวิธีการแบบฮาร์ดคอร์และจบลงด้วยการถูกกระทำ (กระทืบ) จากฝ่ายกุมอำนาจ ขณะที่กลุ่มหลังนั้นมีชั้นเชิงและเน้นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แต่ได้แนวร่วมและมีมวลชนมากกว่า หนนี้ก็เช่นกันเป็นการจัดกิจกรรมในลักษณะคาร์ม็อบ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่าจะมีคนเข้าร่วมขบวนจำนวนมากแน่นอน
อย่างน้อยที่เห็นก็คือกลุ่มของ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ และอาจรวมไปถึง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่แม้จะกั๊กท่าทีแต่แนวโน้มน่าจะเข้าร่วม โดยสิ่งที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในรอบนี้คือ พอแล้วกับภาพคนตายข้างถนน พอแล้วกับวัคซีนไม่พอให้ทุกคน พอแล้วกับการเอาเงินภาษีไปให้พวกปรสิต เวลาทำชั่วของพวกมันสิ้นสุดแล้ว ขอให้มวลชนทุกคนคอยติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและเตรียมตัวกันให้พร้อม มาช่วยกันไล่…ออกจากสภา อย่าปล่อยให้มันลากประเทศล่มจมและคร่าชีวิตของมวลชนไปมากกว่านี้
เรียกว่าเร้าอารมณ์ ปลุกกระแสกันตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจชื่นชมการดำเนินการของตำรวจต่อการสลายม็อบปลดแอกนั้น ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์มองว่า กระสุนยางต้องไม่ยิงใส่ใบหน้าและลำตัว ไม่ยิงใส่นักข่าว ไม่ยิงใส่ประชาชนทั่วไปและบ้านเรือน ไม่ลอบยิง ไม่ยิงจากที่สูง ไม่รุมกระทืบผู้ชุมนุม ไม่ยิงรัวแบบเหวี่ยงแห ไม่ยิงระยะประชิด ยิงให้ตกห่างจากผู้ชุมนุม กรณีจะหยุดเหตุรุนแรงโดยไม่เล็งที่ตัวบุคคล
สรุปในมุมของประจักษณ์คือสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้โฆษกรัฐบาลมาแถลงขอบคุณตำรวจและอ้างว่าทำทุกอย่างตามหลักสากลนั้น สิ่งที่ตำรวจทำทุกอย่างที่ผิดหลักสากล แต่ก็อย่างที่รู้กันเผด็จการหน้าทนไม่สนใจเสียงทักท้วงใด ๆ อยู่แล้ว เมื่อทุกอย่างถูกสร้างมาเพื่อการสืบทอดอำนาจและค้ำยันอำนาจให้อยู่ได้นานตราบเท่าที่จะพอใจ จึงไม่ต้องสนใจอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งเรื่องการออกคำสั่งปิดปากสื่อกับประชาชนที่ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวล่าสุด ถ้าไม่อย่างหนาต้องออกมาขอโทษ
จะเห็นได้ว่าจากคำสั่งศาลที่ออกมานั้น ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 29 ที่ให้อำนาจกสทช.ปิดปากสื่อและล็อกไอพี แอ็ดเดรสของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้น ข้อกําหนดข้อแรกที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความ หวาดกลัว มิได้จํากัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจําเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกําหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้
ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกําหนดฯที่ระบุว่า จําเป็นต้องมีมาตรการที่กําหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกําหนด ทั้งข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกําหนดข้อดังกล่าวนั้น มีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทําให้โจทก์ทั้งสิบสอง ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจ ในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้
นอกจากนี้ ยังเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วย มาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งข้อกําหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสิบสองคน หรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ตามความในมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554
ขณะที่ข้อกําหนดข้อ 2 ที่ให้อํานาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี หรือ IP address ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกําหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกําหนดให้ดําเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกําหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลยังเห็นด้วยว่าอินเทอร์เน็ตมีความสําคัญต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่โควิด-19 ระบาด โดยที่รัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์จํากัดการเดินทางหรือ การพบปะระหว่างบุคคล
ทั้งข้อกําหนดข้อดังกล่าวมิได้จํากัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสําหรับการกระทําครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคล และเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ การให้ข้อกําหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทําให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้
กรณีมีเหตุจําเป็นเห็นเป็นการยุติธรรมและสมควรในการนําวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ ข้อกําหนดทั้งสองข้อดังกล่าว จึงมีคําสั่งห้ามจําเลยดําเนินการบังคับใช้ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
นอกจากนี้ ในคำสั่งของศาลนั้น ยังมีข้อความที่น่าสนใจคือ รัฐยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดําเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสาร ต่าง ๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกํากับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทัน สร้าง ความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย แต่เหตุที่ต้องเลือกใช้กฎหมายปิดปากก็ชัดเจนแล้วว่า ศรัทธาของผู้นำและรัฐบาลนั้นไม่มีเหลือแล้ว พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ จึงบังคับให้คนเชื่อแทนที่จะทำให้คนมั่นใจ