สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ส.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ส.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงกว่า 2% นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและทั่วโลก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,101.85 จุด ลดลง 106.66 จุด หรือ -0.30% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,432.35 จุด ลดลง 4.17 จุด หรือ -0.09% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,860.18 จุด เพิ่มขึ้น 24.42 จุด หรือ +0.16%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์, กลุ่มสาธารณูปโภค และกลุ่มเทคโนโลยี
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 470.68 จุด เพิ่มขึ้น 0.71 จุด หรือ +0.15%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,132.30 จุด เพิ่มขึ้น 9.35 จุด หรือ +0.13% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,813.18 จุด ลดลง 3.78 จุด หรือ -0.06% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,745.41 จุด ลดลง 16.04 จุด หรือ -0.10%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มปลอดภัย ขณะที่หุ้นกลุ่มน้ำมันและกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันและโลหะที่ลดลง
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,132.30 จุด เพิ่มขึ้น 9.35 จุด หรือ +0.13%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การที่รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้นานาชาติยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน เนื่องจากภาวะโลกร้อนกำลังใกล้เข้าสู่ระดับวิกฤต
ทั้งนี้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 1.80 ดอลลาร์ หรือ 2.60% ปิดที่ 66.48 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.66 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 69.04 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐอาจผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาเรื่องการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ทั้งนี้สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 36.60 ดอลลาร์ หรือ 2.10% ปิดที่ 1,726.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 1.057 ดอลลาร์ หรือ 4.35% ปิดที่ 23.269 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.30 ดอลลาร์ หรือ 0.13% ปิดที่ 970.9 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 28 ดอลลาร์ หรือ 1.10% ปิดที่ 2,602.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และอาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.16% แตะที่ 92.9410 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.28 เยน จากระดับ 110.20 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9200 ฟรังก์ จากระดับ 0.9150 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2572 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2559 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1741 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1758 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3852 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3877 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7335 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7352 ดอลลาร์สหรัฐ