ASPS เล็งปรับลดประมาณกำไรบจ.ปีนี้ หลังหั่น GDP-สถานการณ์โควิดยังเสี่ยง

ASPS เล็งปรับลดประมาณกำไรบจ.ปีนี้ หลังหั่น GDP-สถานการณ์โควิดยังเสี่ยง จึงต้องระมัดระวังการลงทุนค่อนข้างมาก


นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) กล่าวในงานเสวนา Economic Update ว่า ASPS มีโอกาสปรับลดประมาณการกำไร (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนในปี 64 ลงจากปัจจุบันที่ยู่ในระดับ 71.0 บาทต่อหุ้น (EPS ระยะเวลาปกติในปี 62 อยู่ที่ 88.1 บาทต่อหุ้น) หลังจากมีการปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศลงจากผลกระทบจองสถานการณ์โควิด-19 และยังมีอีกหลายปัจจัยที่สร้างผลกระทบอยู่ จึงต้องระมัดระวังในการลงทุนค่อนข้างมาก

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 64 ลงเหลือ 0.7% จากเดิม 1.8% และในปี 65 คาดไว้ที่ 3.7% จากเดิม 3.9% โดยประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลให้นโยบายการเปิดประเทศล่าช้าออกไป และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด มีเพียงการใช้จ่ายเงินของภาครัฐและภาคการส่งออกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่า GDP จะกลับไปเติบโตได้ระดับเดียวกับช่วงสถานการณ์ปกติปี 62 ได้ในช่วงปี 65 เป็นต้นไป

นายเทิดศักดิ์ มองว่ามีโอกาสที่ GDP ของไทยในปี 64 จะเติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 0.7% หากสถานการณ์โควิดเลวร้ายไปกว่านี้ เนื่องจากล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับประมาณการ GDP ลงเหลือติดลบ -0.5 ถึง 0% จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ประมาณการตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอาจจะสูงถึง 21,000-50,000 ราย และจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการใช้มาตรการ Lockdown

พร้อมกันนั้น ภาวะหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 90.6% กดดันให้การจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนจะทำได้ไม่เต็มที่  แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐออกมา แต่คงเห็นผลไม่มากนัก เนื่องจากมาตรการต่างๆ ที่ยังควบคุมอยู่ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันภาพรวมการชุมนุมประท้วงทางการเมืองเริ่มรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ อาจจะเข้ามากดดันให้ตัวเลข GDP ให้ปรับตัวลดลงอีก

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังด้านการกระจายการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเข้ามาช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มห้ปรับตัวลดลงกว่าที่มีการคาดการณ์ได้หรือไม่

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งที่ผ่านมามีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 0.50% โดยมีการลงคะแนนเสียงทั้งหมด 6 ราย มี 4 ราย ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ และอีก 2 รายเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งเป็นมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในรอบระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน จึงเป็นตัวชี้นำให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงที่เหลือของปีนี้

Back to top button