สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ส.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 12 ส.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) โดยดาวโจนส์ และ S&P500 ปิดทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ขานรับแรงซื้อหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์และกลุ่มเทคโนโลยี รวมทั้งตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,499.85 จุด เพิ่มขึ้น 14.88 จุด หรือ +0.04% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,460.83 จุด เพิ่มขึ้น 13.13 จุด หรือ +0.30% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,816.26 จุด เพิ่มขึ้น 51.13 จุด หรือ +0.35%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทประกัน และกิจกรรมการควบรวมกิจการ (M&A) ของบริษัทในอังกฤษ ซึ่งได้ช่วยชดเชยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 474.84 จุด เพิ่มขึ้น 0.52 จุด หรือ +0.11%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,882.47 จุด เพิ่มขึ้น 24.48 จุด หรือ +0.36% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,937.51 จุด เพิ่มขึ้น 111.42 จุด หรือ +0.70% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,193.23 จุด ลดลง 26.91 จุด หรือ -0.37%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นริโอ ทินโต ซึ่งร่วงลงหลังขึ้นเครื่องหมาย XD ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงด้วย หลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกชะลอการฟื้นตัว

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,193.23 จุด ลดลง 26.91 จุด หรือ -0.37%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกปีนี้ อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐเรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 16 เซนต์ หรือ 0.20% ปิดที่ 69.09 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 13 เซนต์ หรือ 0.20% ปิดที่ 71.31 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนก.ค. โดยดัชนี PPI ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต และเป็นหนึ่งในตัวเลขเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ

ทั้งนี้สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.50 ดอลลาร์ หรือ 0.09% ปิดที่ 1,751.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 37.20 เซนต์ หรือ 1.58% ปิดที่ 23.116 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 2.10 ดอลลาร์ หรือ 0.21% ปิดที่ 1,017.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 8.90 ดอลลาร์ หรือ 0.30% ปิดที่ 2,623.90 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.12% แตะที่ 93.0358 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.46 เยน จากระดับ 110.44 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9239 ฟรังก์ จากระดับ 0.9218 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2527 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2507 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1729 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1738 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3800 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3865 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7332 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7372 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button