พาราสาวะถี

ไม่แน่ใจว่าต้องสูญเสียดวงตาข้างขวาหรือไม่ สำหรับ “ไฮโซลูกนัท” หรือ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อดีตสลิ่มที่กลับใจมาร่วมขับไล่ขบวนการเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาถูกกระสุนแก๊สน้ำตาบริเวณคิ้วขวา ถูกหามส่งโรงพยาบาล โดยทีมแพทย์ได้ผ่าตัดช่วยเหลืออยู่หลายชั่วโมง ล่าสุดมีข่าวว่าดวงตาขวาของไฮโซลูกนัทได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก ส่งผลให้ดวงตาข้างดังกล่าวได้บอดลง ทำให้มีการเร่งประสานหาแพทย์เฉพาะทางเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง


ไม่แน่ใจว่าต้องสูญเสียดวงตาข้างขวาหรือไม่ สำหรับ “ไฮโซลูกนัท” หรือ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อดีตสลิ่มที่กลับใจมาร่วมขับไล่ขบวนการเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาถูกกระสุนแก๊สน้ำตาบริเวณคิ้วขวา ถูกหามส่งโรงพยาบาล โดยทีมแพทย์ได้ผ่าตัดช่วยเหลืออยู่หลายชั่วโมง ล่าสุดมีข่าวว่าดวงตาขวาของไฮโซลูกนัทได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนัก ส่งผลให้ดวงตาข้างดังกล่าวได้บอดลง ทำให้มีการเร่งประสานหาแพทย์เฉพาะทางเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง

ขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเหมือนทุกครั้ง ใช้ยุทธวิธีปราบตามหลักสากล และโยนให้เป็นความผิดของฝ่ายชุมนุมว่ามุ่งที่จะใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่จนต้องลงมือสลายการชุมนุม ขณะเดียวกันอีกด้าน ฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องก็สั่งให้มีการแถลงเรื่องม็อบเผารถยกสน.ดินแดง และเผายางรถยนต์ใต้ทางด่วนดินแดง เกรงว่าจะกระทบต่อโครงสร้างของทางด่วนให้เป็นเรื่องใหญ่โต เพื่อจะโยนความผิดและด้อยค่าฝ่ายชุมนุมขับไล่

ทั้งที่ความเป็นจริงเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวเมื่อประเมินจากสถานการณ์และระยะเวลาที่เพลิงลุกไหม้จนดับมอด ไม่น่าจะเป็นเรื่องกระทบกระเทือนถึงโครงสร้างของทางด่วนรุนแรงเหมือนอย่างที่มีการสั่งให้แถลงข่าว เหล่านี้เห็นได้ชัดเจนว่าปฏิบัติการของฝ่ายกุมอำนาจ โดยเฉพาะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อทั้งหลาย ใช้ตัวเองเป็นเป้าล่อ นั่นก็คือบ้านพักภายในร.1รอ. เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตำรวจในการที่จะใช้ความรุนแรงกับม็อบ

แน่นอนว่าคำถามเรื่องความเป็นลูกไล่ของฝ่ายสีกากีนั้นมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารช่วงระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าวิธีการที่ใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายเห็นต่างนั้น หนักหน่วง รุนแรง และจะอ้างยึดตามหลักสากลทุกครั้ง กรณีนี้ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอบทความล่าสุดได้อย่างน่าสนใจ กับหัวข้อ “เมื่อตำรวจใช้ปฏิบัติการแบบทหารกับผู้ชุมนุม” ถือเป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดมากที่สุด

นับตั้งแต่การประท้วงได้ก่อตัวขึ้นในปลายปี 2563 รัฐบาลประยุทธ์เลือกใช้หน่วยควบคุมฝูงชน หรือ คฝ.ของตำรวจ เพื่อรับมือกับผู้ชุมนุมเป็นหลัก ด้านหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบทเรียนจากกรณีปราบปรามคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่กองทัพถูกวิจารณ์ว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อประชาชน เอา “ปฏิบัติการสงคราม” มาใช้กับประชาชนที่มีความคิดต่างกับตน ทำให้ผู้นำกองทัพที่ร่วมวางแผนปฏิบัติการดังกล่าวสุ่มเสี่ยงจะติดร่างแหไปกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถูกอัยการยื่นการฟ้องร้องคดีอาญา (แม้ว่าคดีนี้ระบบตุลาการช่วยกันทำให้แท้งก็ตาม)

อีกด้านหนึ่ง การใช้กำลังตำรวจทำให้รัฐบาลดูเหมือนใช้วิธีการแบบเบา ๆ รับมือกับผู้ชุมนุม ดูมีความอดทนอดกลั้นมากกว่า ประนีประนอมมากกว่า ไม่เอากันถึงตายอย่างที่ทหารเคยทำในปี 2535 และ 2553 ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง เครื่องมือของตำรวจไม่ว่าจะเป็นไม้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง รถฉีดน้ำความดันสูง สามารถทำอันตรายร้ายแรงจนทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตได้ แต่นี่เป็นเพียงภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูเบา ๆ เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงตำรวจมี mindset แบบเดียวกับทหาร

mindset ที่ว่าก็คือ ทัศนคติที่เห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นศัตรูของรัฐหรือระบอบที่ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด ไม่มีการประนีประนอม ยิ่งนับวัน mindset นี้ก็ยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น ตำรวจตัดสินใจสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่ในหลายกรณี ผู้ชุมนุมไม่ได้ทำอะไรมากกว่ายืนปราศรัยด้วยเครื่องเสียงขนาดเล็ก วิธีการเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ชุมนุมบันดาลโทสะและต้องการตอบโต้เจ้าหน้าที่อย่างได้ผล แน่นอนว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมมีพวกเลือดร้อนที่ยากจะควบคุมได้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการชุมนุมระยะหลัง การตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยไม่มีเหตุผลของคฝ. เป็นจุดเริ่มต้นของการปะทะ เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ชุมนุม-ปราบปราม-ตอบโต้-ถูกจับ/บาดเจ็บ-สลายตัว-ชุมนุม สิ่งที่รัฐได้ก็คือ ใช้เหตุการณ์เหล่านี้ตอกย้ำความเลวร้ายของผู้ชุมนุมผ่านสื่อของตน ผู้ชุมนุมที่ต้องการล้มล้างสถาบันหลักของชาติ ใช้ความรุนแรง ก่อจลาจล เผยแพร่โรคโควิด ฯลฯ นี่คือกับดักที่รัฐวางไว้เพื่อสะสมความชอบธรรมในการปราบขนาดใหญ่ต่อไป

ปัญหาคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศนี้ได้เคยหยุดถามตนเองหรือไม่ว่า อะไรคือภารกิจของพวกท่านกันแน่ ? ตำรวจยังเป็นผู้รักษากฎหมายหรือไม่ ตำรวจยังเป็นผู้พิทักษ์สันติสุขให้กับราษฎรหรือไม่ หรือตำรวจเป็นแค่ “ลูกน้องของทหาร” เป็นแค่หุ่นยนต์ที่รับคำสั่งจากทหาร/รัฐบาลทรราชย์ ไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี แยกไม่ออกว่าอะไรคือรัฐทรราชย์ อะไรคือรัฐที่ทำเพื่อประชาชน ถ้าตำรวจในประเทศนี้ยังเชื่อว่าตนมีหน้าที่รักษากฎหมายและพิทักษ์สันติราษฎร์ นั่นหมายความว่าพวกท่านต้องไม่ทำตามคำสั่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น และจัดการชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉินป้องกันการระบาดของโรคโควิด ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงได้ แบบเดียวกับที่พวกท่านไม่สามารถใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่เข้าคิวแออัดยัดเยียดเพื่อรอรับวัคซีนที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างน่ากลัว ต่อให้มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครองท่าน ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกท่านจะทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้

การทำหน้าที่รักษากฎหมายและพิทักษ์สันติสุขของราษฎรไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธเสมอไป ตำรวจที่มีความรู้เรื่องจิตวิทยามีอยู่ไม่น้อย กรุณาหันมาใช้วิธีเจรจา ประนีประนอม อะลุ่มอล่วยให้มากขึ้น กรุณาใช้เครื่องมือสลายการชุมนุมให้น้อยลง ช้าลงด้วยเถอะ ปัญหาของเครื่องมือเหล่านี้คือทำให้ตำรวจรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพราะสามารถสร้างความเจ็บปวดต่อผู้ชุมนุมจากระยะไกลได้ จนเชื่อว่าจะจบเกมได้อย่างรวดเร็ว (หรืออย่างสะใจ) จึงอาจทำให้เจ้าหน้าที่มีแนวโน้มใช้กันอย่างไม่บันยะบันยัง อีกด้านหนึ่งมันทำให้ปฏิบัติการของตำรวจกลายเป็นปฏิบัติการทางทหารมากขึ้น

มุมของพวงทอง สิ่งที่เห็นและเป็นไป หากไม่ละทิ้ง mindset แบบทหาร ตำรวจก็เป็นเพียงเครื่องมือคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นแค่ลูกน้องของทหาร ประการสำคัญ mindset เช่นนี้จะนำไปสู่การขนอาวุธร้ายแรงมากขึ้นออกมาจัดการกับผู้ชุมนุมในอนาคตอันใกล้ นี่หมายความว่า พวกคุณไม่ใช่ผู้รักษากฎหมายและพิทักษ์สันติราษฎร์อีกต่อไป แต่เป็นเพียง a killing machine ของรัฐทรราชย์เท่านั้น

Back to top button