พาราสาวะถีอรชุน
วันนี้จะมีการประชุมคสช.ที่บ้านเกษะโกมล แน่นอนว่าวาระสำคัญหนีไม่พ้นปมการเคาะตัวประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. ที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เชิญ มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าหารือ โดยเจ้าตัวบอกว่าจะให้คำตอบในวันจันทร์นี้ แต่มีการคาดหมายว่า น่าจะเซย์เยสกันไปแล้วเรียบร้อย
วันนี้จะมีการประชุมคสช.ที่บ้านเกษะโกมล แน่นอนว่าวาระสำคัญหนีไม่พ้นปมการเคาะตัวประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. ที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เชิญ มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้าหารือ โดยเจ้าตัวบอกว่าจะให้คำตอบในวันจันทร์นี้ แต่มีการคาดหมายว่า น่าจะเซย์เยสกันไปแล้วเรียบร้อย
โดยมองกันไปไกลกว่านั้นด้วยซ้ำว่า การเชิญมีชัยเข้าพบไม่ใช่แค่ขอคำตอบ หากแต่เป็นการเรียกมาเพื่อกำหนดทิศทางการร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการเลือกตัวกรธ.จำนวน 20 คน เพราะเห็นท่วงทำนองของโฆษกรัฐบาลหลังจากนั้น 1 วันบอกว่าบิ๊กตู่กังวลการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เกรงจะเป็นการกดดันให้เนติบริกรใหญ่ต้องรับตำแหน่ง
ในบริบทเช่นนี้หากยึดถือทฤษฎีตรงข้าม การกระทำของผู้มีอำนาจมักจะสวนทางกันตลอดเวลา อะไรที่บอกว่าไม่มักจะใช่และเป็นจริงเสมอ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ในวันนี้นอกจากจะได้ตัวประธานพร้อมกรธ.ครบทั้ง 21 คนแล้ว จะรวมไปถึงเก้าอี้สมาชิกสภาการปฏิรูปประเทศหรือสปท.จำนวน 200 คนด้วย ทั้งหมดไม่ได้เป็นเพราะมีแรงบีบใดๆ หากแต่เป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว
พูดถึงทฤษฎีตรงข้าม คงต้องไปดูแถลงการณ์ของสหประชาชาติและข้อเรียกร้องของส.ส.จำนวนหนึ่งจากสหภาพยุโรปหรืออียูที่มีไล่หลัง จากการไปกล่าวสุนทรพจน์ของบิ๊กตู่บนเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก โดยแถลงการณ์ของยูเอ็นนั้น วิจารณ์การปราบปรามคนเห็นต่างในรัฐบาลทหารของไทยว่าเป็นการทำให้“พื้นที่ของประชาธิปไตยลดลง”
โดยบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็นได้กล่าวเน้นย้ำต่อผู้นำไทยว่า ควรทำให้เกิดซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทย ขณะที่เว็บไซต์อียูรีพอร์ทเตอร์ระบุอีกว่าในการกล่าวสุนทรพจน์ของพลเอกประยุทธ์ ไม่มีการกล่าวถึงการใช้กำลังทหารก่อรัฐประหารแต่พูดแบบพยายามเน้นย้ำว่าจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และอ้างว่าไทยให้ความสำคัญกับการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ ชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ประชาคมโลก ยืนยันหลักการสนับสนุนให้มีประชาธิปไตยในไทยและต่อต้านการกระทำของพลเอกประยุทธ์ โดยระบุว่าการไม่ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังต่อเผด็จการในไทยอาจจะเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ ต่อภูมิภาคอาเซียน ซึ่งซานติอาโกมองว่าหลังจากการรัฐประหารมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตยมากขึ้น
รวมถึงมีการพยายามยื้อเวลาอยู่ในอำนาจของตัวเองโดยไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนง่ายๆ ซึ่งถือว่าไทยละเมิดพันธะต่อประชาคมโลก นอกจากคำวิจารณ์จากสหประชาชาติแล้วส.ส.จำนวนหนึ่งจากสหภาพยุโรปยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการทหารไทยด้วย เช่น เดวิด มาร์ติน ส.ส.อียูจากพรรคแรงงานของอังกฤษกล่าวว่า การที่ประยุทธ์ไม่พูดถึงกำหนดการทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องน่าผิดหวัง
ถึงแม้ว่าผู้นำรัฐประหารไทยจะให้สัตย์ปฏิญาณเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่น่าเศร้าที่สถานการณ์ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับที่เขาพูด เช่นเดียวกันกับ ชาร์ลส์ แทนน็อก ส.ส.อียูจากพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ และคณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายกิจการต่างประเทศที่บอกว่า
ประยุทธ์และเพื่อนผู้นำทหารของเขากำลังบ่อนทำลายบรรทัดฐานของประชาธิปไตยอย่างช้าๆ แต่แน่นอน การลิดรอนเสรีภาพยังเป็นการทำลายการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ระบบยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ยังเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการที่กลุ่มผู้นำทหารในไทยนำเครื่องมือแห่งอำนาจมาใช้ในทางที่ผิด ดังนั้น ยุโรปควรเป็นห่วงสถานการณ์ในไทยซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของประเทศไทยเองแต่ยังส่งผลต่อภูมิภาคตะวันออกในวงกว้างด้วย
ทางด้าน ฟราเซอร์ คาเมรอน จากศูนย์อียู-เอเชีย กล่าวว่า สหภาพยุโรปจะรู้สึกผิดหวังต่อสุนทรพจน์ของประยุทธ์ซึ่งไม่มีการกำหนดเวลาการเลือกตั้งและหลีกเลี่ยงไม่ตอบข้อกังวลของนานาชาติเรื่องการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในประเทศตัวเอง ถึงแม้ผู้นำไทยจะกล่าวถึงการทำให้ประเทศเข้มแข็งขึ้นในหลายๆด้าน แต่การห้ามประท้วง การดำเนินคดีกับผู้ต่อต้านในศาลทหารและการพยายามระงับสิทธิ์ธุรกรรมการเงิน รวมถึงการยังไม่มีกำหนดเวลาเลือกตั้งครั้งถัดไปแน่นอนเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม
นี่อาจเป็นอย่างที่เคยบอกไว้ก่อนหน้า ในเวทีสหประชาชาตินั้นด้วยมารยาทจึงจำเป็นต้องสงวนท่าทีเพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้อย่างราบรื่น แต่ปฏิกิริยาหลังจากนั้นเป็นสิ่งที่น่าห่วง สิ่งที่สอดคล้องกับข้อกังวลของยูเอ็นและอียูดังกล่าว ถูกพิสูจน์ให้เห็นกับการที่คสช.เรียก ศักดา แซ่เอียว หรือ เซีย นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนดังของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปปรับทัศนคติ
ไม่นึกว่าผู้มีอำนาจจะหวั่นไหวแม้กระทั่งการ์ตูนที่มีพื้นที่นำเสนอเล็กๆเพียงแค่นี้ มากไปกว่านั้นจะเห็นได้ว่าเซียมีจุดยืนต่อการนำเสนอเรื่องราวผ่านการ์ตูนเป็นอย่างไร ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หากแต่ยืนอยู่บนจุดของฝ่ายที่สนับสนุนกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย เหมือนอย่างที่เจ้าตัวยืนยัน ไม่กังวล เราเป็นสื่อมวลชน สิ่งที่เราเสนอไปอยู่บนข้อเท็จจริง หวังดี ไม่ได้คิดร้าย ไม่ได้เป็นผู้นำการต่อต้านอะไร
การเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อปรับทัศนคติเป็นการเฉพาะเจาะจงรายบุคคลครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมปรองดอง หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สองสัปดาห์ ซึ่งครั้งนั้นเป็นการตักเตือนให้ร่วมกิจกรรมปรองดอง อย่าเขียนการ์ตูนต่อต้าน เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายความมั่นคงเจาะจงไปที่งานของเซียว่าบิดเบือน ผิดไปจากข้อเท็จจริง
แต่เจ้าตัวก็ย้ำว่าที่เขียนไปเป็นไปตามข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หวังว่าคณะกรรมการตรวจสอบจะไปตรวจสอบข้อมูลดูว่าตนเขียนตามข่าวที่ปรากฏชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ชวนให้นึกย้อนกลับไปถึงข้อกังวลของเลขาฯยูเอ็นที่เป็นห่วงพื้นที่ประชาธิปไตยในไทยที่แคบลง รวมทั้งความจำเป็นถึงการให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เท่านี้ก็รู้แล้วว่าถ้อยแถลงที่เตรียมไปพูดมานั้นแค่วาทกรรมหรือจริงใจ