WTI-BRENT ปิดลบ! วิตก “โควิดเดลตา” ฉุดศก. รั้งดีมานด์น้ำมันลด

WTI-BRENT ปิดลบ! วิตก “โควิดเดลตา” ระบาดหนักหวั่นกระทบต่อศก.- ดีมานด์น้ำมัน ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ร่วงลงกว่า 3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (18 ส.ค.2564) โดยสัญญาน้ำมันดิบปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ร่วงลงกว่า 3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 1.13 ดอลลาร์ หรือ 1.70% ปิดที่ 65.46 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 80 เซนต์ หรือ 1.20% ปิดที่ 68.23 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564

ทั้งนี้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตา ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดน้ำมัน โดยรายงานล่าสุดระบุว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมขยายเวลาการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทางเครื่องบิน รถไฟ และรถบัส รวมถึงผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานและสถานีรถไฟ ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไปจนถึงวันที่ 18 ม.ค. 2564 จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 13 ก.ย.นี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจขยายเวลาการใช้ข้อบังคับดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายได้ง่าย ทั้งยังเป็นการยอมรับว่าการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

อีกทั้งกระแสความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สกัดปัจจัยบวกจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.20 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 3.10 ล้านบาร์เรล

โดยข้อมูลของ EIA ยังระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 1 ล้านบาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.30 ล้านบาร์เรล ขณะเดียวกันสต็อกน้ำมันกลั่น โดยรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.70 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล

Back to top button