IRPC เล็งซื้อกิจการเพิ่ม ต่อยอดธุรกิจเดิม ตั้งเป้าปี 68 “อีบิทด้า” แตะ 2 หมื่นลบ.
IRPC เล็งซื้อกิจการเพิ่ม ต่อยอดธุรกิจเดิม ตั้งเป้าปี 68 "อีบิทด้า" แตะ 2 หมื่นลบ. ตามกลยุทธ์ 3S+3C พร้อมมุ่งสู่องค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรม ใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life
นางสาวกัญญามาส ฤทธิเดช ผู้จัดการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยข้อมูลภาพรวมของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 19 ส.ค.2564 ว่า งวดไตรมาส 2/2564 บริษัทฯมีรายได้จากการขายสุทธิ 56,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากราคาขายเพิ่มขึ้น 16% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณขายเพิ่มขึ้น 2%
โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 8,727 ล้านบาท หรือ 15.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 25% สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 12,234 ล้านบาทหรือ 21.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2% ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 มีกำไรต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว โดยมีกำไรสุทธิ 4,574 ล้านบาท ขณที่ 6 เดือนแรกกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,155.36 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3 คาดว่า ราคาน้ำมันจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 2 เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่ากลุ่มโอเปกและพันธมิตรจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 แต่ปริมาณการผลิตส่วนเพิ่มดังกล่าวมีแนวโน้มไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
โดยทิศทางการดำเนินงานในไตรมาส 3/64 บริษัทคาดว่าสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจะไม่ได้เติบโต เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังต้องรอดูว่าบริษัทจะรักษาปริมาณขายในระดับทรงตัวได้หรือไม่ โดยมองว่าปัจจุบันแนวโน้มความต้องการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ภูมิภาคตะวันตกและภูมิภาคเอเซีย ซึ่งในโซนตะวันตกตลาดยังมีการเติบโตได้ แต่ในส่วนของตลาดเอเซียต้องดูความต้องการของประเทศจีนและอินเดียเป็นหลัก ซึ่งยังเป็นเสาค้ำให้พอไปได้แม้จะไม่ดีเท่าในช่วงครึ่งปีแรก
พร้อมกันนี้คาดว่าโรงกลั่นน้ำมันปีนี้จะมีอัตราการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 193,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 190,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังอัตราการกลั่นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 195,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรองใช้น้ำมันของประเทศตะวันตกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/64 เพื่อรองรับการใช้ในช่วงฤดูหนาว
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่เกี่ยวกับ Advanced Materials, Energy Solutions และ well-being เพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ โดยขนาดของธุรกิจที่จะทำการ M&A นั้นจะเป็นขนาดที่ไม่ใหญ่มากในช่วงเริ่มต้น
ส่วนความคืบหน้าโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน EURO V (Ultra Clean Fuel Project: UCF) เพิ่มกำลังการกลั่นอีก 75,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่า 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2567
ส่วนการเติบโตของบริษัทยังเน้นกลยุทธ์ 3S+3C คือ มุ่งเป้าไปที่อีบิทด้าเป็นหลัก โดยตั้งเป้าว่าจะเติบโตมาที่ระดับ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2568 และสู่ระดับ 3 หมื่นล้านในปี 2573 ซึ่งได้แก่ Strengthening the core, Striving the growth และ Sustaining the future
สำหรับ Strengthening the core หรือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก โดยใช้ระบบดิจิทัล (Customer Centric Digital) ที่ทำให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว
ส่วน Striving the growth ขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ IRPC เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) เดินหน้าขยายธุรกิจด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ ให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การร่วมมือกับ ปตท. ในการศึกษาการผลิต Melt Blown ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และ Nitrile Butadiene Latex วัตถุดิบที่นำไปผลิตเป็นถุงมือแพทย์ และการร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตในอนาคตต่อไป
ด้าน Sustaining the future การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน และสังคมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ด้วยการใช้พลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในองค์กรอย่างครบ
อีกทั้งล่าสุดบริษัทกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป คือ การเป็นองค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life) เพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ที่ส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจ
ทั้งนี้ IRPC จะให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการใช้วัสดุหมุนเวียนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางการแพทย์และสุขภาพที่สร้างประโยชน์เพื่อคนไทย อาทิ การสร้างสรรค์นวัตกรรมเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown: Polypropylene Melt blown) วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หรือแม้แต่กลุ่มนวัตกรรมทางการเกษตร ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ที่พัฒนาต่อยอดมาจากซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรและปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
บริษัทจึงเตรียมปรับเป้าหมายสัดส่วนผลิตภัณฑ์สินค้ากลุ่มชนิดพิเศษ (Specialty) ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้าที่มีมูลค่าสูงดังที่กล่าวมาให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะอยู่ที่ 30% ภายในปี 67 เป็นมากกว่านั้น หรือมากกว่า 20% ในอนาคต จากปีนี้คาดเติบโตเฉลี่ย 20%
สำหรับด้านการใช้พลังงานนั้น IRPC จะขยายผลธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ลดความร้อน และอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงกลั่นน้ำมันให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น