กกร. เพิ่มเป้า GDP ปี 64 แตะ -0.5-1% หนุนรัฐเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ

กกร. เพิ่มเป้า GDP ของไทยปี 64 เป็น -0.5 ถึง 1.0% จากเดิมคาดติดลบ -1.5 - 0% หลังยอดติดเชื้อโควิดลดลง-ฉีดวัคซีนได้มากขึ้น คาดกระตุ้นศก.ช่วงที่เหลือของปีดีขึ้น หนุนรัฐเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70-80% จาก 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน


นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยในที่ประชุมว่า วันนี้ กกร.ได้เห็นชอบในการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เป็น -0.5 ถึง 1.0% ดีขึ้นจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะติดลบ ราว -1.5 ถึงไม่เติบโต หรือ ขยายตัวเป็น 0% เพราะมองว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น และคาดว่ารัฐบาลจะจัดหาวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

ทางด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วนในเดือน ก.ย.64 ดังนั้น หากสามารถเร่งจัดสรรและฉีดวัคซีนที่มีมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้” นายผยง กล่าว

ทั้งนี้บริษัทยังได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12-14% จากเดิม 10-12% จากการที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงแม้ว่าบางประเทศกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19ได้ ส่วนกิจกรรมการผลิตฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่อยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ 2) การขาดแคลนชิปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลายสินค้าอุตสาหกรรม และ 3) เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ

ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) Supply chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน และ 2) หากควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้นมาก ภาครัฐจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทัน High Season ปลายปี ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession

นอกจากนี้ที่ประชุม กกร. ยังเห็นควรชี้แนะให้รัฐบาลวางเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบที่ท้าทาย โดยตั้งเป้าผลักดันให้ GDP ปี 65 ขยายตัวให้ได้ถึง 6-8% เพราะการตั้งเป้าหมายการเติบโตเพียงแค่ 3-5% มองว่าอาจอยู่ในระดับต่ำเกินไป และต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่เคยมีมาในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด

พร้อมกับสนับสนุนให้รัฐบาลปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน เป็น 70-80% ต่อจีดีพี ซึ่งจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 แสนล้านบาทถึง 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องการให้รัฐบาลนำไปใช้สนับสนุนการจ้างงาน รวมทั้งออกมาตรการที่ช่วยทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากขึ้น เช่น Co-pay และการค้ำประกันสินเชื่อในวงเงินที่สูงขึ้น เป็นต้น

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้ฟื้นตัวสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตินั้น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู โดยนำข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาใช้ปรับเกณฑ์ในรอบนี้ด้วย เพื่อให้เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อระยะถัดวงเงิน 150,000 ล้านบาทมากที่สุด โดยจะขยายวงเงินสินเชื่อลูกหนี้รายใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินเดิม 30% ไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถขอได้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอมากขึ้นต่อสถานการณ์ โควิด-19 ที่ยาวกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงการปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-2 เพื่อลดภาระในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.นี้

Back to top button