ระบบราชการ (อนาล็อก) ดิจิทัลไทย

“สำนักข่าวซินหัว” มีการรายงานว่า ที่ประชุมทางการกลางของจีน มีการทบทวนผลลัพธ์ของความพยายาม “ลดระเบียบพิธีการ” ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา


ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา “สำนักข่าวซินหัว” มีการรายงานว่า ที่ประชุมทางการกลางของจีน มีการทบทวนผลลัพธ์ของความพยายาม “ลดระเบียบพิธีการ” ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมของรัฐบาลปักกิ่ง ได้เรียกร้องความพยายามเพิ่มเติม ในการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่และแรงงานระดับล่างที่ต้องรับภาระงานอันหนักเกินไป

โดยระบุว่า หน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจจะดำเนินการลงโทษสถานหนัก กับผู้สร้างผลกระทบร้ายแรงอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการที่ไม่สำคัญและไม่จำเป็นในการรับมือโรคระบาดใหญ่ หรือความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง

แต่ไฮไลท์สำคัญที่ประชุมมีการตอกย้ำทบทวนปัญหาการประชุม งานเอกสารและการประเมินผลงาน ที่ไม่มีความจำเป็นและซ้ำซ้อน โดยเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นป้องกัน และแก้ไขระเบียบพิธีการอันไร้ประโยชน์ รวมถึงระเบียบพิธีการที่ไม่จำเป็นต้องมี หรือการออกมาตรการใดที่สร้างความยุ่งยากขึ้นมาใหม่

สอดคล้องกับ China Report ASEAN-Thailand ที่มีการรายงานว่า นับตั้งแต่ศาลประชาชนสูงสุดของจีน มีนโยบายย้ายศาลสู่ระบบออนไลน์ เปิดบริการศาลออนไลน์ (ศาลอัจฉริยะ) ช่วยให้ประชาชน เข้าถึงบริการฟ้องร้องคดีความ เกิดประโยชน์จำนวนมาก

ทำให้ช่วยลดการเดินทาง ลดระยะการเดินทางของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่ศาลได้กว่า 9.3 หมื่นล้านกิโลเมตรแล้ว ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 9.4 ล้านตัน ช่วงปี 2563 เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบจากปี 2562

โดยปี 2020 มีจำนวนคดีความที่ฟ้องร้องต่อศาลออนไลน์ทั่วประเทศอยู่ที่ 10.8 ล้านคดี คิดเป็น 54%ของคดีความทั้งหมด ช่วยประหยัดกระดาษได้มากถึง 1.45 หมื่นล้านแผ่น เทียบเท่ากับต้นไม้มากกว่า 1 ล้านต้นที่ต้องนำมาทำกระดาษ

หลังจากจีนเริ่มนำระบบศาลออนไลน์มาใช้ที่กรุงปักกิ่งและเมืองกว่างโจว หลังทดลองใช้ที่เมืองหางโจวเมื่อปี 2560 โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย

โดยพบว่าผู้ร้องทุกข์สามารถลงทะเบียนคำร้องทางอินเทอร์เน็ต กระบวนการไต่สวนจะกระทำทางออนไลน์ทั้งฝั่งผู้ร้องทุกข์และคู่กรณี ผู้พิพากษาเสมือนจริงจะปฏิบัติหน้าที่โดยมีผู้พิพากษาที่เป็นคนจริง ๆ คอยสังเกตกระบวนการและตรวจสอบคำวินิจฉัย

ทั้งนี้คดีส่วนใหญ่บนศาลออนไลน์ เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัล เช่น ข้อพิพาทเรื่องการค้าทางระบบอินเทอร์เน็ต การละเมิดลิขสิทธิ์และการจ่ายเงินออนไลน์ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย มติครม.เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2562 ได้มีความเห็นชอบให้หน่วยงานราชการ “ออกเอกสารผ่านระบบดิจิทัล” และเลิกใช้กระดาษภายในปี 2563 ถ้าหน่วยงานใดติดปัญหาทำไม่ทันให้ขอขยายเวลาเป็นราย ๆ ไป

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานราชการไทยส่วนใหญ่ ยังคงมีการใช้กระดาษอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น “สำเนาบัตรประชาชน” หรือ “สำเนาทะเบียนบ้าน” (พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง) มักถูกเรียกขานจากหน่วยงานรัฐ เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการทำธุรกรรมกับทางราชการอยู่เช่นเดิม

แม้ว่า “บัตรประชาชน” จะมี “ชิปการ์ด” ทุกใบแล้วก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่จุดเริ่มต้นการเข้ารับบริการที่ต้อง “กรอกเอกสาร” เพื่อต่อคิวเข้ารับบริการจากหน่วยงานรัฐ

จึงน่าสนใจว่า..การที่ครม.เห็นชอบหลักการตามที่สำนักงานพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ให้การออกเอกสารหลักฐานของราชการผ่านระบบดิจิทัล เวลาผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใดเลย..

…ไม่รู้สินะว่าอีก 2 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้หรือไม่..!?

Back to top button