สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 6 ต.ค.58


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.29 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 120.45 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1208 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1187 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,370.69 จุด เพิ่มขึ้น 7.52 จุด หรือ 0.55% มูลค่าการซื้อขาย 38,280.83 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,205.66 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองกรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 59 ที่ 2.5-3.5%(ค่ากลาง 3%) จากปีนี้ 2.8% รับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทุกรูปแบบ

– สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)  ประเมินอัตราการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 59 อยู่ที่ 3% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

– ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย   สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ที่ 2.5-3.0% จากประมาณการเดิมที่ 3.0-3.5% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีนี้จะหดตัวถึง 5%

– นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คาดปีงบประมาณ 2558 จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 94% จากเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ 96% ซึ่งถือเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณได้สูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่การเบิกจ่ายในส่วนของงบลงทุนนั้นมีการทำสัญญาไปแล้ว 91% แต่ไม่รวมงบกลาง เนื่องจากต้องนำงบกลางออกมาใช้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 50,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในทั้งปีต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากบางส่วนไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ทันภายใน 30 ก.ย.58

– นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แนะติดตามผลกระทบต่อการค้าโดยรวมและเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางและระยะยาวต่อไปอย่างใกล้ชิด หลัง 12 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

– ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มการประชุมนโยบายเป็นวันแรกแล้ว โดยคาดว่า BOJ จะคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในปัจจุบันไว้ต่อไป แม้มีความหวังมากขึ้นว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นจะผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ซบเซา

– ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2% หลังจากสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button