กบข. เผยผลงานครึ่งปีแรก สร้างผลตอบแทนลงทุน 3.68% มองครึ่งปีหลังเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว
ผลการดำเนินงานรวมของ กบข. ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 3.68% ด้วยการเน้นลงทุนสินทรัพย์เติบโต พร้อมปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ท่ามกลางสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และเทรนด์ของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้เติบโตอย่างสม่ำเสมออาจจะเป็นเรื่องยากของใครหลายๆคน แต่การรีเซตการลงทุนด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ จะช่วยให้พอร์ตลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดให้ได้ไม่ยาก เพราะจักรวาลการลงทุนที่อยู่บนโลกใบนี้ มีอยู่หลากหลายให้เลือกสรร สามารถทำให้พอร์ตลงทุนกลายเป็น “พอร์ตสุดปัง กำไรเติบโตจนฉุดไม่อยู่”
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คือหนึ่งในนักลงทุนสถาบันที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงอย่างต่อเนื่อง สวนกับวิกฤตการรระบาดของโควิด-19 โดยผลการดำเนินงานรวมของกองทุน กบข.ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 3.68% ขณะที่ผลตอบแทนกองทุนส่วนสมาชิกในปี 2563 ทำได้สูงถึง 4.79% ด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด ตามแนวคิดของ “ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข.” ที่ต้องการปรับทิศทางการลงทุนเพื่อให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนยามเกษียณที่ดีขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบัน กบข.มีสมาชิกทั้งสิ้นประมาณ 1.18 ล้านคน กับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ที่มีมากถึง 1.12 ล้านล้านบาท
เปิดกลยุทธ์การลงทุน กบข. ครึ่งปีแรก 2564
ดร.ศรีกัญญา ได้ให้ข้อมูลการลงทุนที่สำคัญ สำหรับการสร้างผลตอบแทนการในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จนทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของกบข.มีความโดดเด่น โดยระบุว่า สินทรัพย์ 3 ประเภทที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนเติบโตได้ในระดับสูงมาก คือ สินค้าโภคภัณฑ์ ที่มีสัดส่วนลงทุนประมาณ 26.81% ของพอร์ต หุ้นในตลาดพัฒนาแล้ว ที่มีสัดส่วนลงทุน 13.14% และหุ้นไทย ที่มีสัดส่วนลงทุน 9.04% ซึ่งทั้ง 3 สินทรัพย์นี้ได้ให้ผลตอบแทนมากกว่า 9%
“ภาวะการลงทุนช่วงการค้นพบวัคซีนโควิด ทำให้หลายๆประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและอเมริกา ในส่วนของหุ้นได้ปรับตัวสูงขึ้น จากของการบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้น กบข.ลงทุนโดยเน้นสัดส่วนตรงนี้มากกว่าดัชนีเทียบวัด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มตลาดที่กำลังพัฒนา(Emerging Markets) กบข.ยังคงน้ำหนักเท่ากับดัชนีเทียบวัด เพราะว่าเห็นว่าการเจริญเติบโตตรงนี้จะค่อยๆตามมา โดยรวมก็จะลงทุนในตลาดพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอเมริกา ยุโรป” ดร.ศรีกัญญา กล่าว
มุมมองภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับมุมมองภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ดร.ศรีกัญญา กล่าวว่า เรื่องค่าเงินโดยเฉพาะค่าเงินดอลล่าบาท หลังจากเห็นว่าการเติบโตเศรษฐกิจค่อนข้างช้า ทำให้คาดว่าเงินที่จะเข้ามาในภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยน้อยลง ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 30 บาทต่อดอลล่า ได้ปรับขึ้นประมาณ 33.5 บาทต่อดอลล่า ทำให้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง กบข. คิดว่าในไตรมาส 4 นี้ หลังจากที่ตัวเลขส่งออก (Export)ของไทยดีขึ้นตามการประเทศที่ฟื้นตัว ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาได้
ในปีหน้านักท่องเที่ยวอาจกลับมา ค่าเงินบาทก็จะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ส่วนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อฟื้นตัวก็จะค่อยๆ ดึงเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเอเชียฟื้นตัวตาม เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้การลงทุนและผลตอบแทนจะดีขึ้นในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ เรื่องของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร เพราะโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนก็จะปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้ราคาของพันธบัตรปรับตัวลดลง
สำหรับเงินเฟ้อ กบข. ยังเห็นว่า ปรับตัวขึ้นไปพอสมควร แต่ธนาคารกลางโดยเฉพาะอเมริกา หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังค่อนข้างที่จะควบคุมไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นเร็วจนเกินไป ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสี่ยง
แผนการลงทุนของ กบข. ในช่วงครึ่งปีหลัง
ในครึ่งปีหลังสิ่งที่ กบข. จะต้องกลับมาพิจารณากันก็จะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว 10 ปี ของพันธบัตรสหรัฐฯเป็นหลัก ซึ่งจะขึ้นหรือจะลงแรงขนาดไหนขึ้นกับการ Guidance ของทางเฟด ว่า สภาพคล่องในตลาดจะเริ่มบริหารจัดการอย่างไร ดังนั้น กบข. จึงวางกลยุทธ์การลงทุนโดยปรับลดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรเพื่อป้องกันความเสี่ยง
ในความเป็นจริงนั้น ก่อนที่เฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้น จะเริ่มจากค่อยๆ ดึงสภาพคล่องในตลาดออกก่อน พอถึงจุดหนึ่งถึงจะเริ่มปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น อันนี้เป็นจุดที่จะต้องจับตา ถ้าดอกเบี้ยมีการกระชากตัวขึ้นแรง จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและส่งผลกระทบต่อค่าเงินด้วย ดังนั้น กบข. จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยจับตาการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งเรามีการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯและยุโรปค่อนข้างเยอะ โดยมองว่าตลาดหุ้นซึ่งนำโดยสหรัฐฯและยุโรปปรับตัวดีขึ้น สำหรับฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM) จะปรับตัวค่อนข้างช้ากว่า
ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน กบข. ได้พยายามปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับมุมมองที่บาทอ่อนค่า ที่ผ่านมา กบข. ได้ปรับลด Hedge Ratio ลงมา และจะคงให้อยู่ในระดับนั้นไปอีกสักช่วงหนึ่ง จนกว่าจำนวนเคสผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มเห็นสัญญาณว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นรุนแรง และเริ่มเห็นสภาวะที่มีแรงกลับเข้ามาในส่วนของท่องเที่ยว ด้านส่งออกตอนนี้ดีอยู่แล้ว นับว่าเป็น 2 แรงที่จะผนวก ก็จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้