STEC ล้มดีลซื้อ STPI ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย IRR ต่ำเรียดดิน
บอร์ด STEC มีมติไม่ซื้อกิจการบ.ย่อยจาก STPI หลังที่ปรึกษาทางการเงินมองว่า การลงทุนในครั้งนี้มี IRR ลดลงเหลือ 0.16% ซึ่งไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 มีมติอนุมัติไม่เข้าทำรายการซื้อกิจการ บริษัท เอส ที ไอ ที จาก บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI
ทั้งนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรงระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และยังรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังเดือนเม.ย.2564 จนถึงปัจจุบันยังคงระบาดอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวมทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม การเปิดประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐล่าข้าออกไป รวมทั้งงานก่อสร้างของภาคเอกชนก็ชะลอออกไปเช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่ายังไม่ฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้ อันจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงทุนในกิจการของบริษัท เอส ที ไอ ที จำกัด
ดังนั้น เพื่อความมั่นใจ บริษัทฯ จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ชี.เจ. มอร์แกน จำกัด (ที่ปรึกษาทางการเงิน) ในการร่วมกันจัดทำประมาณทางการเงินใหม่ ภายใต้สมมติฐานที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของโรคระบาดูโควิด-19 ผลปรากฏว่า เมื่อพิจารณาจากเงินลงทุน การเข้าทำรายการจะทำให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (Equity IRR) ลดลงเหลือ 0.16% จากเดิมที่ประเมินไว้ 16.53% ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในห้วงเวลานี้ รวมถึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากที่ได้เสนอไว้ต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2563
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เจรจาสอบถามราคาซื้อขายกิจการ เอส ที ไอ ที กับ STPI แล้ว และได้รับคำตอบยืนยันราคาเดิม ทั้งสองฝ่ายจึงไม่บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งพิจารณาด้วยหลักความระมัดระวัง รวมถึงเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น เห็นว่าการลงทุนซื้อกิจการของ บจก. เอส ที ไอ ที ในราคาและเงื่อนไขการชำระเงินเดิมไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เข้าทำรายการซื้อกิจการ บจก. เอส ที ไอ ที่ จาก บมจ. เอสทีพี แอนด์ ไอ
พร้อมกันนี้การยกเลิกการลงทุนดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ ก็ได้ประเมินผลกระทบในหลายด้าน ประกอบด้วย ผลกระทบทางด้านกฎหมาย (Legal Risk) เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่ได้เข้าทำนิติสัมพันธ์ ธุรกรรมการซื้อขายแต่อย่างใด ความเสียหายต่อบริษัทฯ หรือต่อผู้ถือหุ้นจึงยังไม่เกิดขึ้นจริง, ผลกระทบทางด้านการเงิน (Financial Risk) เนื่องจากเป็นการยกเลิกการลงทุนในบริษัทอื่น จึงทำให้บริษัทฯ กลับมามีกระแสเงินสดและสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจหลักที่ดียิ่งขึ้น และบริษัทฯ ยังไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายหุ้น ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นในเรื่องค่าปรับ
รวมถึงค่าเสียโอกาส และค่าเสียหายต่างๆ, ผลกระทบการดำเนินงาน (Qperational Risk) บริษัทฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานศูนย์เครื่องจักรกล (Construction Equipment Center) ศูนย์บริหารพัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง (Construction Asset and Inventory Center) ที่มีอยู่เดิมให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องมืออุปกรณ์ การซ่อมบำรุง ตลอดจนบุคลากรให้สามารถรองรับการดำเนินงานในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง รวมถึงมอบหมายให้กรรมการผู้จัดการ มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถเข้าทำรายการซื้อกิจการ บจก. เอส ที ไอ ที กับบมจ. เอสทีพี แอนด์ ไอ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บมจ. เอสทีพี แอนด์ ไอ และผู้ประสงค์จะขายต่อไป ให้รับทราบต่อไป อีกทั้งบริษัทฯ จะนำเสนอรายงานฯ ให้ผู้ถือหุ้นในรอบการประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวถัดไป
โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 มีมติเข้าซื้อกิจการ บจก.เอส ที ไอ ที เนื่องด้วยเล็งเห็นว่ากิจการ บจก. เอส ที ไอ ที จะช่วยสานประโยชน์และส่งเสริมการทำธุรกิจของบริษัทฯ โดยจะช่วยสร้างความมั่นคงในการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อรองรับการดำเนินงาน และการบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกิจการดังกล่าวให้ผลตอบแทนการลงทุน (Equity IRR) ที่16.53% ซึ่งเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่อยู่ในระดับที่ดี