ศาลฯสั่งจำคุกอดีตผู้บริหาร POWER-P กรณีทุจริต-โกงบัญชี

ศาลพิพากษาลงโทษอดีตผู้บริหาร POWER-P กรณีทุจริตและยินยอมให้มีการทำผิดเกี่ยวกับบัญชีและเอกสารของบริษัท


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ระบุว่า ศาลพิพากษาลงโทษอดีตผู้บริหาร POWER-P กรณีทุจริตและยินยอมให้มีการทำผิดเกี่ยวกับบัญชีและเอกสารของบริษัท ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกนายราชศักดิ์ สุเสวี อดีตกรรมการซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) (POWER-P)

กรณีเบียดบังเงินออกจากบริษัทโดยทุจริต ด้วยการให้บริษัทจ่ายเงินมัดจำค่าซื้อหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งสูงกว่าความเป็นจริง 45 ล้านบาท ยอมให้ลงข้อความเท็จและไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีและเอกสารของ POWER-P และทำบัญชีไม่ถูกต้องครบถ้วนตามจริงเพื่อลวงผู้อื่นเกี่ยวกับการเบียดบังเงินออกจากบริษัท

คดีนี้สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท แอล.วี.ซี.ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (บริษัท แอล.วี.ซี.) ของ POWER-P ว่า อาจมีการทำเอกสารเท็จกรณีการทำรายการซื้อหุ้นของบริษัท แอล.วี.ซี.ในระหว่างปี 2548  เพื่อถ่ายเทผลประโยชน์ออกจาก POWER-P   ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบพบการทำความผิดจึงดำเนินการกล่าวโทษนายราชศักดิ์ สุเสวี ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 และต่อมาจากพยานหลักฐานที่รวบรวมโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงทำให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ได้พิจารณาเห็นควรฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 ศาลอาญามีคำพิพากษาว่านายราชศักดิ์มีความผิดตามมาตรา 307 308 311 ประกอบมาตรา 313 และความผิดตามมาตรา 312(2)(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ให้ลงโทษฐานเบียดบังทรัพย์ของ POWER-P เป็นของตนโดยทุจริตตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา  โดยจำคุก 8 ปี และมีความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ฐานยินยอมให้ลงข้อความเท็จและไม่ลงข้อความสำคัญในงบการเงินงวดปี 2548 และเอกสารของ POWER-P และบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่ตรงตามความเป็นจริงเพื่อลวงผู้อื่น ให้ลงโทษจำคุก 8 ปี

เนื่องจากนายราชศักดิ์ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงลดโทษจำคุกเหลือกรณีละ 5 ปี 4 เดือน รวมลงโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา  

นายวสันต์ เทียนหอม รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนเป็นหัวใจสำคัญในการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท โดยหลักจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ถูกต้อง ทั่วถึง และทันเวลา แต่หากกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แล้ว ก็ย่อมมีความรับผิดทางอาญา อีกทั้งถ้ากระทำไปเพื่อลวงผู้ถือหุ้นหรือบุคคลทั่วไป ก็ย่อมต้องรับโทษที่สูงขึ้น กรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริตในการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัท”

Back to top button