พาราสาวะถีอรชุน

รวบรัดตัดตอนได้อย่างไม่คิดว่าจะออกมาจากปากของผู้นำประเทศ กับการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สรุปเอาว่าสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท.เที่ยวนี้มีตัวแทนทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม แม้บางรายจะลาออกไปแล้วก็ถือว่าเป็นคนของพรรคการเมืองนั้น โถ!ช่างเป็นตรรกะที่น่าสงสาร เผด็จการได้ใจจริงๆ


รวบรัดตัดตอนได้อย่างไม่คิดว่าจะออกมาจากปากของผู้นำประเทศ กับการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สรุปเอาว่าสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือสปท.เที่ยวนี้มีตัวแทนทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม แม้บางรายจะลาออกไปแล้วก็ถือว่าเป็นคนของพรรคการเมืองนั้น โถ!ช่างเป็นตรรกะที่น่าสงสาร เผด็จการได้ใจจริงๆ

ถ้าเช่นนั้นหากมีคนถามท่านย้อนกลับไปว่า การที่รัฐประหารยึดอำนาจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปแล้วโดยที่เขาไม่ได้ยินยอม ยังจะแสดงว่าอดีตนายกฯหญิงยังเป็นผู้นำประเทศอยู่หรือเปล่า คงไม่ต้องอรรถาธิบายอะไรให้ยืดยาว กรณีนี้เป็นเรื่องของสามัญสำนึกของคนล้วนๆ ยิ่งมีอำนาจยิ่งต้องรู้ผิดชอบชั่วดีมากกว่าคนอื่น การทึกทักเช่นนี้ถือเป็นการเอาดีเข้าตัว

เพราะคนอย่าง สุชน ชาลีเครือ และ สมพงษ์ สระกวี ที่ไปรับตำแหน่งสปท.แล้วได้ไขก๊อกพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคแล้วนั้น จะถือว่าเป็นตัวแทนของพรรคได้อย่างไรขณะที่พรรคต้นสังกัดก็แถลงการณ์ออกมาชัดเจนใครที่ไปรับตำแหน่งดังว่าให้ลาออกจากพรรค เนื่องจากความเป็นพรรคการเมืองที่มาจากระบอบประชาธิปไตยไม่อาจร่วมสังฆกรรมกับองคาพยพที่เกิดจากการรัฐประหารได้

ยิ่งบิ๊กตู่พูดถึงเรื่องของความหลากหลายและสมดุลของสปท. ยิ่งทำให้เห็นความเป็นตรรกะวิบัติไปยกใหญ่ เพราะตัวแทนจากพรรคและกลุ่มการเมืองที่มีอยู่ 10 คน เทียบกับอดีตสปช. อดีตข้าราชการหรือข้าราชการที่ยังอยู่ในตำแหน่ง รวมทั้งนายพลทั้งทหารและตำรวจ ซึ่งล้วนแต่เป็นพวกสั่งได้แทบทั้งนั้น ถามว่ามันเป็นสมดุลประเภทไหนกัน

ทางที่ดีควรที่จะปล่อยให้องค์กรเหล่านั้นได้ทำงานไปตามกรอบหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้จะดีกว่า การพูดมากแทนที่จะเป็นผลดีกลับจะย้อนกลับเข้าตัว และทำให้เห็นมุมมองเรื่องของระบอบประชาธิปไตยในความรู้สึกนึกคิดของผู้นำการรัฐประหารได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ที่ไปคุยโขมงบนเวทีสหประชาชาตินั้นถือเป็นเรื่องของกลอนพาไปและว่ากันตามสคริปต์

อย่างไรก็ตาม งานของสปท.กว่าจะได้เริ่มประชุมก็ปาเข้าไปวันที่ 13 ตุลาคมโน่น ขณะที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานเริ่มแอ็กชั่นกันมาได้สองวันแล้ว แม้จะยังไม่เริ่มกระบวนการยกร่างรายมาตรา แต่ก็มีความคืบหน้าตามลำดับโดยเฉพาะการเตรียมเชิญอดีตเลขานุการที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับทั้งปี2540  2550  และฉบับล่าสุดมาร่วมเป็นที่ปรึกษา

รีบออกตัวแทนน้องรักก่อนทันที เมื่อมีชัยบอกว่าในรายของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เคยเป็นอดีตเลขานุการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 40 นั้น หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดถูกคว่ำ เจ้าตัวประกาศจะไม่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดอีก ดังนั้น หากเชิญไปแล้วเกิดตกปากรับคำก็ขอร้องสื่อมวลชนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ เพราะเกรงว่าจะทำให้คนที่ตั้งใจดีเสียกำลังใจ

นี่แหละลีลาของเนติบริกรชั้นครู รู้และเข้าใจกระแสสังคมว่าจะออกมารูปไหนจึงต้องรีบแตะเบรกเอาไว้ก่อน เหมือนอย่างที่บอกไว้ไม่ต้องห่วงการได้มีชัยเข้ามาเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนการขายเหล้าพ่วงเบียร์ เพราะจะได้ทั้งบวรศักดิ์และ วิษณุ เครืองาม มาร่วมในการยกร่างด้วย เพียงแต่ว่าจะมาในบริบทไหนเท่านั้น เปิดเผยหรืออยู่เบื้องหลัง

รายของรองนายกฯฝ่ายกฎหมายนั้น คงเปิดหน้าไม่ได้แต่ดอกเตอร์ปื๊ดคงต้องคิดหนักหน่อย เพราะภาพการเดินแจกพระรุ่นไม่รับร่าง โดยท่วงทำนองที่หมดอาลัยตายอยากหลังจากร่างรัฐธรรมนูญที่ตัวเองตั้งใจทำและอุ้มท้องประคบประหงมมากับมือถูกทำแท้งในชั้นของสปช. ไม่รู้ว่าจะหายจากอาการน้อยใจแล้วหรือยัง แต่ขึ้นชื่อว่าเนติกรคงจะงอนได้ไม่นาน

ขณะที่มุมมองซึ่งมีต่อกรธ.ชุดนี้ จตุพร พรหมพันธุ์ และ จาตุรนต์ ฉายแสง เห็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นก็คือ ดูแล้วมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางเทคนิคกฎหมายจำนวนมาก โดยเฉพาะประธานกรธ.เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ แต่มีจุดอ่อนตรงที่ไม่เคยร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาก่อน ขณะเดียวกันมีชัยก็ติดภาพของการร่วมงานคสช.มาตั้งแต่ต้น

เห็นได้ชัดจากการชูหลักการ 5 ข้อของคสช.มาเป็นแนวทางในการยกร่างคู่กับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเสี่ยอ๋อยมองว่า การมุ่งเน้นไปที่ปัญหาบางปัญหาที่ดูให้ความสำคัญเกินกว่าปัญหาหลักการใหญ่ที่รัฐธรรมนูญควรมี เช่น การต้องการให้เกิดการปฏิรูป การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและการป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนมีนโยบายที่เป็นประชานิยม

เมื่อปัญหาเหล่านี้ถูกเน้นจนเกินไป จึงไปขัดต่อหลักการใหญ่ที่ไม่มีอยู่ใน 5 ข้อคือ การแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม การจะให้พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตอบสนองความต้องการของประชาชนผ่านกระบวนการระบบรัฐสภา การยึดหลักนิติธรรม การป้องกันไม่ให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือประชาชน

เมื่อตั้งต้นกันอย่างนี้ ทำให้มองแนวโน้มของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า คงมีปัญหาคล้ายกับร่างที่ถูกคว่ำไป รวมไปถึงปัญหาที่สำคัญคือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ยังไม่รู้ว่าจะมีทางออกอย่างไร แต่มีการกำหนดแล้วว่าจะมีรัฐบาลใหม่ในปี 2560 ซึ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำแล้วไปหยิบร่างใดร่างหนึ่งที่ประชาชนไม่ยอมรับมาดำเนินการจะกลายเป็นปัญหาใหญ่

ถ้าจะเขียนกฎหมายสูงสุดให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ต้องสรุปบทเรียนจากจุดอ่อนของประชาธิปไตยที่ผ่านมาคือชอบคิดอะไรง่ายๆ จนเป็นความมักง่าย สุดท้ายก็สร้างปัญหาไม่รู้จบ ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยถ้าให้อ่านท่าที คงไม่ได้อินังขังขอบว่าผู้มีอำนาจจะอยู่ยาวนานเท่าไหร่ เพราะคนกลุ่มนี้มีเป้าหมายชัดเจนหากร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยจะร่างกี่ร้อยครั้งก็จะคว่ำทุกครั้งไป มีชัยกับพวกต้องคิดรอบด้านไม่ให้เป็นเนติบริกรตกท่อเหมือนดอกเตอร์ปื๊ดและคณะ

Back to top button