พาราสาวะถีอรชุน

เก็บตกความพยายามอธิบายด้วยสารพัดเหตุผลของคนในรัฐบาลว่าด้วยนโยบายซิงเกิล เกตเวย์ จะพบเห็นประเด็นย้อนแย้งหลายประการ เรื่องหนึ่งซึ่งยืนยันจากปากของโฆษกรัฐบาล สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่ออกมาขู่กลุ่มต่อต้านด้วยการบอกว่า สามารถที่จะตรวจหาร่องรอยการชักชวนเพื่อเอาผิดได้ นั่นก็หมายความว่า ข้ออ้างในกรณีความมั่นคงไม่จำเป็นต้องมีซิงเกิล เกตเวย์ก็สามารถใช้กฎหมายอื่นจัดการได้


เก็บตกความพยายามอธิบายด้วยสารพัดเหตุผลของคนในรัฐบาลว่าด้วยนโยบายซิงเกิล เกตเวย์ จะพบเห็นประเด็นย้อนแย้งหลายประการ เรื่องหนึ่งซึ่งยืนยันจากปากของโฆษกรัฐบาล สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่ออกมาขู่กลุ่มต่อต้านด้วยการบอกว่า สามารถที่จะตรวจหาร่องรอยการชักชวนเพื่อเอาผิดได้ นั่นก็หมายความว่า ข้ออ้างในกรณีความมั่นคงไม่จำเป็นต้องมีซิงเกิล เกตเวย์ก็สามารถใช้กฎหมายอื่นจัดการได้

เช่นเดียวกันกับการพยายามอธิบายเพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับข้อห่วงใยต่อข้อมูลที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียที่เป็นผลร้ายต่อสังคมและเยาวชน รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจที่อยากขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลไปข้างหน้า กลุ่มบุคคลที่เห็นต่างก็มองว่ามันยังมีน้ำหนักไม่มากพอที่จะต้องดำเนินการขนาดนั้น

โดยเฉพาะกรณีเศรษฐกิจดิจิตอล สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ การจะขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิตอลได้จริงนั้น สิ่งสำคัญประการแรกๆ รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างเสถียรภาพ ขยายขอบเขต และความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

รวมไปถึงการสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการ แต่ซิงเกิล เกตเวย์ จะนำมาซึ่งปัญหาในหลายระดับ นับตั้งแต่ระดับของการประกอบธุรกิจภายในประเทศ เพราะจะทำให้ความคล่องตัวในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันลดน้อยลง เนื่องจากต้องเชื่อมผ่านประตูกลางที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว แทนที่จะสามารถเลือกใช้ประตูบานที่ใกล้ที่เหมาะสมหรือตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจตนเองมากที่สุด

ระดับของผู้ใช้งานทั่วไปรวมทั้งผู้ประกอบการออนไลน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วในการไหลเวียนข้อมูลลดลง หรือเมื่ออินเทอร์เน็ตล่มไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เช่น ถูกโจมตีระบบ ไม่สามารถรองรับการเข้าออกของข้อมูลได้ ก็จะพากันล่มทั้งประเทศ อีคอมเมิร์ซหยุดชะงัก กิจกรรมออนไลน์ดำเนินต่อไม่ได้ เพราะไม่มีประตูอื่นที่คอยมาแชร์ทั้งประสิทธิภาพและความเสี่ยง

ระดับที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความลับ รวมทั้งปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะไม่ว่าใคร ไม่เฉพาะรัฐแต่รวมถึงมิจฉาชีพและแฮกเกอร์ด้วย สามารถสอดแนม ควบคุม จารกรรมและปิดกั้นข้อมูลได้ง่ายขึ้นที่จุดเดียว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของบรรดาบริษัทต่างประเทศในการเข้ามาลงทุน และเหล่านี้เองที่ล้วนแล้วแต่ตรงข้ามกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างสิ้นเชิง

เท่ากับว่าแนวคิดเช่นนี้เป็นการถอยหลัง นั่นก็เพราะ ประเทศไทยเคยผ่านการเป็นซิงเกิล เกตเวย์มาแล้ว ในยุคที่คนไทยมีแต่กสท.เท่านั้นที่บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในประเทศออกไปสู่ต่างประเทศหรือ International Internet Gateway หรือ IIG ซึ่งเป็นยุคที่จำนวนประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยังมีไม่มาก และเป็นยุคที่ปริมาณข้อมูลที่ไหลเข้าออกระหว่างประเทศยังไม่กระทบกับความเร็วของอินเทอร์เน็ต

นโยบายที่แสดงถึงการโหยหาอยากกลับไปใช้ซิงเกิล เกตเวย์อีกครั้ง จึงไม่มีทางเป็นเรื่องของความก้าวหน้าไปได้  หรือมิเช่นนั้นอาจต้องพูดให้ถูกๆชัดๆ ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ทันประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่า ไมใช่เพื่อทันกันในแง่ของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อให้มาตรการในการควบคุมตรวจสอบกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตและปิดกั้นเนื้อหาจากการรับรู้ของประชาชนมีศักยภาพทัดเทียมประเทศสังคมนิยมอย่างประเทศจีนต่างหาก

คำถามสุดท้ายก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว คำว่าภัยความมั่นคงไซเบอร์ในสายตาของรัฐบาลทหารชุดนี้ มันหมายถึง ภัยก่อการร้ายสากล สงครามไซเบอร์หรือการโจมตีระบบสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริงๆ หรือไม่ หรือมันมีนิยามแคบๆ ว่า หมายถึง การเผยแพร่ข้อมูลหรือเนื้อหาเชิดชูประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112

ซึ่งกรณีของมาตรา 112 นั้นก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว และก็มีให้เห็นในหลายๆ คดี ดังนั้น อาการลับๆ ล่อๆ ที่มีต่อโครงการซิงเกิล เกตเวย์จึงทำให้ทุกสายตามองไปยังกระบวนการขับเคลื่อนด้วยความเคลือบแคลง ยิ่งล่าสุด กระทรวงไอซีทีปฏิเสธที่จะไปร่วมพูดคุยต่อกรณีดังกล่าวกับสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยหรือเอฟซีซีที ยิ่งทำให้เกิดความสงสัยหนักเข้าไปอีก

เพราะหากยืนยันว่าแค่ศึกษาและยังไม่มีความคืบหน้า ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธในการเข้าร่วมชี้แจงให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติได้เข้าใจ จนสุดท้ายทางเอฟซีซีทีต้องออกแถลงการณ์แสดงความรู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายสำคัญและกำลังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ในขณะนี้ได้ พร้อมๆ กับระบุว่ารัฐบาลได้เริ่มเดินหน้าศึกษาไปแล้ว ไม่รู้ว่าเช่นนี้ถือเป็นความเสียหายต่อรัฐบาลหรือไม่

เช่นเดียวกันกับกรณีรายงานของธนาคารโลกล่าสุด ที่ระบุว่าจีดีพีของไทยปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.8 แน่นอนว่าตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับมติของที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือกกร. เพียงแต่ว่ากรณีของเวิลด์แบงก์สรุปว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในอาเซียนและจะถดถอยต่อเนื่องไปอีก 2 ปี

แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน แต่มีปัญหาด้านโครงสร้างที่จะต้องใช้เวลานานกว่าจะปฏิรูปและแก้ปัญหาได้สำเร็จ บทสรุปเช่นนี้ย่อมสวนทางกับคำพูดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นและการส่งออกจะไม่ติดลบต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการกระตุ้นภายในประเทศจากเม็ดเงินที่อัดฉีดไป 137,000 ล้านบาทผ่าน 3 โครงการ

โดยที่ โสภณ พรโชคชัย ถึงกับออกมาเตือนว่านโยบายและมาตรการดังกล่าวนั้น อาจใช้ได้ผลในยุคของทักษิณ ชินวัตร แต่อาจใช้ไม่ได้ผลในยุคนี้ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันโอกาสการลงทุนในชนบทมีจำกัดกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงในการลงทุนในขณะนี้  เท่ากับว่าหากปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของสมคิด เศรษฐกิจของชาติอาจพากันลงสู่หุบเหวจนยากจะกู้คืนอีกต่อไป

Back to top button