พาราสาวะถี

ข้อถกเถียงที่ถูกจุดประกายขึ้นในเวลานี้เรื่องระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจได้วางกติกาไว้


จะไปถามหาสปิริตจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ คำตอบที่จะได้รับคงไม่ต่างจากคนในเครือข่ายก่อนหน้านั้นที่บอกว่าไม่ใช่นักกีฬา แต่ถ้าถามหาความรับผิดชอบทางกฎหมายที่เจ้าตัวประกาศย้ำมาตลอดนับตั้งแต่การรัฐประหาร ก็น่าจะเป็นสิ่งที่คนโดยทั่วไปอยากเห็นอย่างยิ่งจากท่านผู้นำ ต่อข้อถกเถียงที่ถูกจุดประกายขึ้นในเวลานี้เรื่องระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจได้วางกติกาไว้

ก่อนที่จะไปดูมุมความเห็นต่าง ๆ นั้น ย้อนไปดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจในมาตรา 158 ระบุไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง ขณะที่มาตรา 264 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

เหตุที่ยกเอาทั้งสองมาตรานี้มาคู่กัน เพราะมันสอดประสานไปด้วยกันกับสิ่งที่เกิดข้อถกเถียงเวลานี้ กล่าวถือ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีนั้น ไม่นับเป็นวาระ แต่นับอายุของการอยู่ในตำแหน่งจริงจะกี่สมัยก็ได้ โดยที่ไม่รวมช่วงเวลาที่รักษาการหลังพ้นตำแหน่ง ขณะที่มาตรา 264 ถ้าถามถึงว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจจะถูกนับเป็นอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 หรือไม่ ถ้าดูตามตัวอักษรที่ระบุไว้ก็ถือว่าชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ บุญส่ง ชเลธร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ที่เปิดประเด็นนี้ ก็ยืนยันว่า หากพิจารณาเริ่มจากวันแรกวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 หากครบกำหนด 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจะหมดวาระในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ทำให้บางฝ่ายเริ่มแสดงความเห็นว่าควรนับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับโปรดเกล้าฯ หรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่ควรอยู่ 8 ปี เมื่อเป็นแบบนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ควรอยู่เกิน 8 ปีใช่หรือไม่

ขณะเดียวกัน เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจนี้ ก็มองทิศทางเดียวกันว่า ต้องนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ส่วนคนที่บอกว่านับตั้งแต่ปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ถามว่าทำไมถึงนับปี 2560 แล้วคนที่บอกว่านับหลังการเลือกตั้งปี 2562 ถามว่าทำไมจึงนับหลังการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บอกชัดเจน ดังนั้น ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

เพียงแต่ว่าในมุมของเจษฎ์นั้นเรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้านทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล หากจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ควรจะยื่นก่อนที่จะเกิดปัญหาคือยื่นก่อนเดือนสิงหาคมปี 2565 เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่พลเอกประยุทธ์จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง หากมีการยื่นไปตีความหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ศาลวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์อยู่เกินวาระและอยู่โดยไม่มีอำนาจจะทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายได้ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องบริหารประเทศและพิจารณาสั่งการตลอด ถามว่าใครจะรับผิดชอบ

ความจริงประเด็นที่ว่าใครต้องรับผิดชอบนั้น ควรย้อนถามกลับไปที่เจษฎ์ด้วยเหมือนกัน ตอนที่นั่งเป็นที่ปรึกษาของคนที่เขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ได้มองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหรืออย่างไร ไม่ใช่เฉพาะประเด็นนี้ เพราะรู้กันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจนั้นได้สร้างปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งในกรณีของสาระที่เขียนว่านายกฯห้ามอยู่เกิน 8 ปี ก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าไม่นับรวมนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหาร หรือมาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เชื่อได้เลยว่ากรณีนี้จะไม่สร้างปัญหาให้กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เหมือนอย่างที่ โอฬาร ถิ่นบางเตียว จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นว่า หากดูเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเห็นได้ชัดเจนว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร มีความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันหรือไม่ และมีกลุ่มบุคคลใดได้ประโยชน์สูงสุดจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีรัฐมนตรีบางคนบอกว่าออกแบบมาเพื่อพวกเรา

ดังนั้น กำหนดเวลาการทำงาน 8 ปี จึงไม่บอกให้ชัดว่าจะเป็นเวลาที่กำหนดจากการเลือกตั้งแบบปกติ หรือจะรวมการทำหน้าที่จากการทำรัฐประหาร เรื่องนี้คงไม่ต่างจากการเขียนบทเฉพาะกาลให้ 250 ส.ว.ทำงานได้ 5 ปี หมายถึงมีโอกาสโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยไม่จำกัดวาระ เมื่อเกิดการยื่นตีความ ตรงนี้ก็แทบจะไม่ต้องคาดเดา ทุกองคาพยพของขบวนการสืบทอดอำนาจจะสอดรับกันทั้งหมดเพื่อการอยู่ยาวของผู้มีพระคุณ

ถึงที่สุดกลุ่มผู้มีอำนาจก็ต้องยึดความได้เปรียบและพยายามอธิบายความชอบธรรมจากการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ในอำนาจต่อไป มีเนติบริกรปลาไหลอยู่ข้างกายจะไปกลัวอะไร ไม่เชื่อก็รอฟังบทสัมภาษณ์ของมือกฎหมายรายนี้ต่อประเด็นดังกล่าวดู จะทำให้เห็นปลายทางขององค์กรที่จะตีความว่าจะออกมาในรูปใด เผด็จการคณะนี้ไม่ใช่พวกอย่างหนาเรียกพี่เพียงอย่างเดียว หากแต่องคาพยพ ลิ่วล้อที่ได้รับการยกหางก็อย่างหนาไม่แพ้กัน

น่าสนใจในวาระที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ จะทำลายสถิติฐานะผู้นำประเทศที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ จากที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยทำไว้ก่อนหน้านี้คือ 8 ปีนั้น กำลังเผชิญกับความท้าทาย อย่างน้อยฐานการเมืองสนับสนุนจากพรรคที่คิดว่าแน่นหนาก็เกิดการสั่นคลอนอย่างไม่น่าเชื่อ บวกเข้ากับการตีความข้อกฎหมายที่สมุนของตัวเองเขียนขึ้นมาเพื่อการอยู่ยาว ต้องดูจุดจบทางการเมืองของคนที่เคยประกาศว่า จะลงจากหลังเสือต้องฆ่าเสือ” นั้น จะเป็นอย่างไร อดีตรัฐบุรุษไม่ไปต่อด้วยวลี ผมพอแล้ว” แล้วผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคนนี้มีคำว่าพออยู่ในหัวหรือไม่

Back to top button