“สายลมสร้างไฟฟ้า” สู่พลังงานที่ยั่งยืน

“สายลมพัดพา” ที่นำมาสู่การ “ผลิตไฟฟ้า” นับเป็นทิศทางพลังงานแห่งอนาคตบนเส้นทาง “พลังงานสะอาด” ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งพลังงานจากธรรมชาติ ไม่กินเนื้อที่ ไม่มีค่าเชื้อเพลิง และมีเสถียรภาพ หากแต่การลงทุนอาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเลือกสภาพแวดล้อม ภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย


เพราะการใช้พลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้า “ความเร็วลม” จะต้องสม่ำเสมอ หรือกำลังลมเฉลี่ยทั้งปีควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมได้มีประสิทธิภาพ ส่วนไทยตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ด้วยภูมิประเทศพื้นที่ส่วนใหญ่ จึงทำให้มีความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าแสวงหาโอกาสลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพและต่อยอดความรู้ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ให้กับประเทศไทย

หากพูดถึงหนึ่งในผู้คิดค้นนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกจะต้องมีชื่อของ “ไต้หวัน” เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ชัดเจนสะท้อนผ่าน “นโยบายรัฐบาล” ที่ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 พลังงาน 20% จะมาจากพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นหลัก

“พลังงานลม” ที่ไต้หวัน วันนี้พัฒนาไปไกลถึงจุดใด?

ไต้หวันเป็นพื้นที่แรกในเอเชียแปซิฟิกที่มีแผนขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งเชิงพาณิชย์อย่างชัดเจน มีกำลังลมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง จึงมีบริษัทต่างประเทศและนักพัฒนาเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนให้ไต้หวันสร้างห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง เมื่อมีแรงสนับสนุนทั้งฝั่งรัฐบาลและเอกชนทำให้ ไต้หวันเป็นต้นแบบด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็นศูนย์กลางของการธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่งของภูมิภาค

บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GRSC (ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100%) เล็งเห็นโอกาสลงทุนก้าวสำคัญ ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับ “บริษัท Copenhagen Infrastructure Partners” หรือ CIP เข้าถือหุ้น 25% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang and Xidao ในไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี กับ บริษัท Taiwan Power Company คาดจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ครบในปี 2567 และสามารถครอบคลุมการใช้ไฟกว่า 600,000 ครัวเรือนในไต้หวัน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในสัดส่วนของ GPSC จนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

การลงทุนนี้ จะทำให้ GPSC เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอีก 149 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25% ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเท่ากับ 2,635 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 37% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 7,102 เมกะวัตต์ เดินหน้าสู่เป้าหมายกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานดั้งเดิมเป็น 8000 MW ภายในปี 2573

การลงทุนนี้ ยังเปิดโอกาสให้ GPSC ได้ขยายความเชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้การพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง เนื่องจากต้องอาศัยเทคโนโลยีในการก่อสร้างและพัฒนาโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงนวัตกรรมกังหันลมที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของโครงการ เมื่อผู้นำด้านธุรกิจพลังงานที่มีความมุ่งมั่นแรงกล้าในเส้นทางสายนวัตกรรมไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนมาเจอกัน ยิ่งเป็นพลังขับเคลื่อนครั้งสำคัญสู่ทิศทางพลังงานแห่งอนาคต

รับชมวีดิโอ

Back to top button