หงส์ดำ ว่อนเหนือตลาดหุ้น

ดัชนีตลาดหุ้นไทย SET พุ่งขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,630 จุด ได้สำเร็จง่ายดายและมุ่งสู่แนวต้านใหม่ที่ 1,650 จุด ในขณะที่ค่าบาทอ่อนค่ามากรอบ 7 ปีเศษ


ปรากฏการณ์ที่ทำลายความเชื่อเดิม ๆ ของคนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นไทยล่าสุดคือ ดัชนีตลาดหุ้นไทย SET พุ่งขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,630 จุด ได้สำเร็จง่ายดายและมุ่งสู่แนวต้านใหม่ที่ 1,650 จุด ในขณะที่ค่าบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 7 ปีเศษ

ปรากฏการณ์ “บาทอ่อน (ฟันด์โฟลว์ไหลออก) แต่ราคาหุ้นพุ่ง” แทนที่จะเป็น “บาทอ่อน หุ้นร่วงยาว” ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวหรือปานกลาง ล้วนเป็นเรื่องไม่ปกติทั้งนั้น

นักวิเคราะห์ที่ถือคัมภีร์ “ลอกเลียนเข้าไว้” พากันออกคำชี้แนะมีมุมมองทางบวกว่าตลาดมีแรงหนุนกลุ่ม Commodity จากราคาพลังงานขึ้นต่อเนื่องทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ไปลิ่ว ๆ

ใครคนไหนที่ออกมาป่าวร้อง บอกว่า ยามนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะร่วงลงไปใต้ 1,600 จุดดูจะเป็นคนนอกแถวโดยปริยาย ทั้งที่ตลาดยังมีปัจจัยลบรออยู่เพียบ แต่มุมมองแบบโลกสวย ยังคงอยู่ดังเดิมอย่างน่าประหลาด

นับตั้งแต่วันอังคารที่ 5 ตุลาคม เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าซื้อขายที่คึกคักมากมาย มูลค่าการซื้อขายราว 5 หมื่น ล้านบาท ในช่วงเช้าแม้จะเปิดลบในบางวัน แล้วมักจะปิดบวกตอนบ่าย ด้วยมูลค่าซื้อขายคึกคักระดับเฉียด หรือเกิน 1 แสนล้านบาทต่อวัน ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบสลับกัน

สิ่งที่เรียกว่า “ความสมเหตุสมผลทางพฤติกรรม” (irrational misbehavior) ของทิศทางเคลื่อนตัวของตลาดหุ้นยามนี้ ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องปกติ ภายใต้ตำอธิบายของทฤษฎีหงส์ดำ หรือ Black Swan Theory) ว่าความไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งเขียนโดยอดีตเทรดเดอร์แห่งตลาดออปชั่นสในนิวยอร์ก นัสซิม นิโคลาส ทาเล็บ เขียนในหนังสือคลาสสิกร่วมสมัยชื่อ The Black Swan: The Impact of High Improbable ในปี 2007

เล่มนี้เป็นเล่มที่สองของซีรีส์ห้าเล่มของ Taleb ที่มีชื่อว่า Incerto รวมทั้ง Fooled by Randomness (2001), The Bed of Procrustes (2010–2016), Antifragile (2012) และ Skin in the Game (2018). ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ สุนทรียศาสตร์ ตลอดจนวิถีชีวิต และการใช้องค์ประกอบของนิยายและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากชีวิตของผู้เขียนไม่เน้นหนักเฉพาะเรื่องของตลาดเก็งกำไรเท่านั้น

ชุดของหนังสือดังกล่าว ใช้เวลา 36 สัปดาห์ในรายชื่อหนังสือขายดีของ New York Times และทำรายได้เข้าในกระเป๋าของทาเล็บกว่า 500 ล้านดอลลาร์

ทฤษฎีหงส์ดำ มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบที่รุนแรงของเหตุการณ์ผิดปกติที่หายากและคาดเดาไม่ได้  เพื่ออธิบายอย่างละเอียดว่าเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในสังคมจึงไม่สามารถมองเห็นได้และการบริหารความเสี่ยงแบบเดิม ๆ ก็ไร้ประโยชน์อย่างแน่นอน

หนึ่งปีหลังจากการปรากฏตัวของ Black Swan” บนชั้นวางของร้านหนังสือ วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ก็เกิดขึ้น จากนั้น ทฤษฎีของเขาก็ถูกนำไปใช้อธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลกับสถานการณ์ที่ “คาดเดาไม่ได้”

ทฤษฎีหงส์ดำเริ่มต้นจากคำอธิบายว่า จนถึงปี 1697 ครูในโรงเรียนจากทั่วยุโรปบอกกับนักเรียนอย่างมั่นใจว่าหงส์ทุกตัวเป็นสีขาวราวกับหิมะ ไม่มีเหตุผลที่จะคิดเป็นอย่างอื่น แต่วันหนึ่งนักเดินเรือชาวดัตช์ Willem de Flaming ได้มาถึงออสเตรเลียและพบหงส์ดำที่แท้จริงในฐานะสัตว์ท้องถิ่น

ข้อสรุปใหม่จึงเกิดขึ้นว่า ถ้าไม่มีใครเคยเห็นหงส์ดำมาก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าวันหนึ่งเราจะไม่ได้พบกับพวกมัน

เฉกเช่นเดียวกัน การทำลายล้างอย่าง “ฉับพลัน” ของสงครามโลกทั้งสองครั้ง การโจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 วิกฤตต้มยำกุ้งที่ลุกลามถึงรัสเซียและอาร์เจนตินา และการล่มสลายของดอทคอมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2000 ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ ทำให้มนุษยชาติตกใจ เพราะไม่มี “ระฆังเตือน” ถึงห่วงโซ่ของเหตุการณ์ จึงไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามและโศกนาฏกรรมเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล

ล่าสุด เมื่อสี่ปีก่อน ทาเล็บ ใช้ทฤษฎีหงส์ดำของเขาคาดเดาว่า ปัญหาระดับโลกที่จะคุกคามมนุษยชาติในอนาคตอันใกล้นี้ คือโรคระบาดใหม่ ซึ่งบรรดาสื่อเพิ่งถึงบางอ้อเมื่อเกิดการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ที่พวกเขาพากันประเมินว่าอันตรายนี้ต่ำเกินไปและแทบไม่ได้เอะอะเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ความต้านทานของแบคทีเรียต่อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นหรือมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น

สมมติฐานที่ทาเล็บมองว่า หายนะทั้งหลายของหงส์ดำ ที่มีคุณสมบัติสามประการ คือ 1)เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างสิ้นเชิง 2)มีผลกระทบอย่างมาก 3)มักจะมีแนวโน้มมาพร้อมกับคำอธิบายเกี่ยวกับการมองย้อนกลับจากประสบการณ์เดิม ๆ ทำให้ไม่เข้าใจถึง “ผลสะเทือนผีเสื้อ” ( butterfly effect) แล้วตกอยู่ในความมืดบอดมุมมองเรื่องสมคบคิดอันคับแคบเ แล้วดันทุรังเกี่ยวกับพัฒนาการของเหตุการณ์ที่ไม่เข้าว่าความคาดหวังของเราอนาคตไม่ใช่ภาพสะท้อนของอดีตเนื่องจากมีปัจจัยใหม่ ๆ ที่ไม่รู้จักเกิดขึ้นซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการบิดเบือนความรู้ความเข้าใจ หลงเชื่อในข้อมูลที่ไม่ขัดแย้งกับมุมมองและความเชื่อของเรา เช่นท่าทีว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง” ไม่ใช่ “หลักฐานยืนยันและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

แม้ทาเล็บ จะไม่เคยบอกว่า หงส์ดำ ไม่ใช่และไม่มีทางเป็นหงส์แดง แต่นักลงทุนที่มีประสบการณ์ควรต้องเข้าใจ

Back to top button