พาราสาวะถีอรชุน
ถึงขั้นส่งสารชี้แจงประชาชนถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญกันทีเดียว สำหรับหัวหน้าคสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เนื้อหาสาระนั้น บางช่วงบางตอนมันชวนให้นึกถึงข้อเรียกร้องของม็อบกปปส. และวาทกรรมของบางพรรคการเมือง เหมือนเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยยังไงชอบกล เลยทำให้นึกไปไกลว่า เช่นนี้มันจะปรองดองกันได้อย่างไร
ถึงขั้นส่งสารชี้แจงประชาชนถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญกันทีเดียว สำหรับหัวหน้าคสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เนื้อหาสาระนั้น บางช่วงบางตอนมันชวนให้นึกถึงข้อเรียกร้องของม็อบกปปส. และวาทกรรมของบางพรรคการเมือง เหมือนเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยยังไงชอบกล เลยทำให้นึกไปไกลว่า เช่นนี้มันจะปรองดองกันได้อย่างไร
ประเด็นที่ว่าจะต้องแก้ไขเรื่องเผด็จการรัฐสภา ข้อความนี้คงไม่ต้องบอกว่ามีที่มาจากใคร ถ้าจะมีคนย้อนถามไปว่าระหว่าง เผด็จการรัฐสภากับเผด็จการจากรัฐประหารนั้นอย่างไหนเลวร้ายกว่ากัน หวังว่าท่านผู้นำคงไม่หงุดหงิดอารมณ์เสียไปเสียก่อน ซึ่งก็พอจะเดาคำตอบได้ว่า ก็เพราะความวุ่นวายและการป้อนคำถามให้เกิดความขัดแย้งแบบนี้นี่ไงที่ทำให้ทหารต้องออกมา
ถ้าใช้ตรรกะเช่นนี้ก็ต้องปุจฉากันต่อว่า เนื้อแท้ของความขัดแย้งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น มันเป็นเรื่องของความเห็นต่างชนิดอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ หมดปัญญาที่จะแก้ปัญหา หรือมันเป็นเรื่องเจตนาของคนและคณะบุคคลที่ต้องการจะสร้างความขัดแย้ง ยุยงปลุกปั่นเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ ทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวกมีที่ยืนอยู่ในประเทศนี้กันแน่
ไม่ต้องย้อนความไปไกล เอาแค่กรณีของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถามว่าตั้งต้นการประท้วงขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจากเรื่องอะไรร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยใช่หรือไม่ แล้วเหตุใดถึงบานปลายกลายไปเป็นเรื่องของการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จนถึงกระทั่งอหังการจะสถาปนาตัวเองเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ไปเสียฉิบ
แล้วคดีความต่างๆ ที่เรียกร้องว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น ถามหน่อยว่าถ้าไม่นับรายของทักษิณ ในส่วนของแกนนำความเคลื่อนไหววันนี้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยอย่างนปช.กับกลุ่มที่เกาะแข้งกอดขาอำมาตย์อย่างระบอบสนธิ-จำลองและม็อบกปปส. ถามว่าใครที่เข้าสู่กระบวนการและติดคุกติดตะรางกันไปบ้าง
หลักฐานต่างๆ มันบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงไม่อยากเห็นผู้มีอำนาจแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวาทกรรม เพราะความล้มเหลวจากพรรคการเมืองที่ดีแต่พูดนั้น มันเป็นตัวบ่งชี้ช่วยประจานความไม่เอาไหนได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับสารของบิ๊กตู่ที่บอกว่า ประเทศไทยไม่มีคนชั้นสูง ชั้นกลางหรือชั้นต่ำ คำพูดเหล่านี้ เป็นเพียงวาทกรรมของนักการเมืองที่พยายามสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
เรื่องดังกล่าว ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองอย่างแน่นอน มีคำอธิบายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะมุมที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาพร้อมกับคำถามว่า ถ้าถามว่าประชาชนพร้อมหรือเปล่า ประชาชนพร้อมเสมอ ชนชั้นนำต่างหากที่ไม่พร้อม และมันชัดขึ้นทุกวันว่าชนชั้นนำไม่พร้อม
ที่มาปัญหาความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากแนวคิดหรือจินตนาการเกี่ยวกับสังคมไทยที่แตกต่างกันเป็น 2 ขั้ว และเราอยู่กับความแตกต่างนี้มาประมาณ 10 กว่าปี เมื่อเราอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองที่แตกต่างกัน ถึงที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างต้องคำนึงถึงคือความแตกต่างของสองขั้วนี้ คำถามก็คือ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในปัจจุบัน รู้หรือไม่ว่าความขัดแย้งคืออะไร
คนร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหนและสามารถที่จะถอดตัวเองออกจากความขัดแย้งได้หรือไม่ ซึ่งไม่สามารถทำได้ และเมื่อทำไม่ได้ก็ไม่มีทางที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้ มายาคติอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่มักจะมองเห็นภาพชนบทแบบหยุดนิ่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเมืองกับชนบทมีความแตกต่างกันน้อยลง
แม้ว่าคนจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมแต่รายได้ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากภาคเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว พวกเขามีรายได้มาจากแหล่งอื่นๆ วิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้อยู่ติดกับพื้นที่อีกต่อไป ขณะเดียวกันในชนบทมีการกระจายความเจริญด้านการศึกษาที่ดีขึ้น มีระบบสาธารณสุขที่ทั่วถึง การมองชนบทแบบหยุดนิ่งเป็นเพียงความล้าสมัยของกรอบมุมมองแบบเดิม
ดังนั้น ความขัดแย้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมการเมืองอย่างเก่า กับวัฒนธรรมการเมืองอย่างใหม่ วัฒนธรรมการเมืองอย่างเก่าเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลางเก่า ที่มองการเมืองแบบมีคุณธรรม ประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการตรวจสอบดูแล การเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ ยินยอมให้มีการแทรกแซงจากอำนาจพิเศษเป็นครั้งคราวได้ เห็นว่าการเมืองภาคประชาชนคือ ประชาธิปไตยทางตรง และน่าเชื่อถือกว่าระบบรัฐสภา
ในทางกลับกันวัฒนธรรมการเมืองอย่างใหม่ คือการมองเห็นว่าการเลือกตั้งน่าเชื่อถือ มีความต้องการที่จะจำกัดอำนาจของสถาบันประเพณี ไม่เชื่อถือการเมืองที่มีคุณธรรมเพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ เห็นว่าทั้งการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติมีความสำคัญ แต่สำคัญคนละแบบ นั่นจึงเป็นโจทย์ว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำอย่างไรให้มีการต่อรองอำนาจระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการร่างของคนกลุ่มเดียว
ที่สำคัญจะต้องตอบโจทย์ของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2535 คือไม่ใช่เพียงแค่การจำกัดการโกง แต่ต้องมีการกระจายอำนาจด้วย แต่สิ่งที่เราพบเห็นกันอยู่ในปัจจุบันสะท้อนว่า ชนชั้นนำยังไม่พร้อมที่จะปล่อยอำนาจให้ประชาชน ตรงนี้ผู้มีอำนาจน่าจะรู้อยู่แก่ใจดี โดยเฉพาะ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะเนติบริกรก็คงจะเข้าใจความต้องการของผู้สั่งการด้วย
หากเป็นเช่นนั้นคงต้องฝากความเห็นของเบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลไว้ให้พิจารณาว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายประจำรัฐบาลที่ยึดอำนาจมาเขียน แต่เป็นกฎหมายของประชาชนที่ออกแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนในสังคม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่าง รัฐธรรมนูญที่มาจากการละเมิดสิทธิมันไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญที่ไม่ฟังเสียงประชาชนไม่มีความหมาย และการร่างรัฐธรรมนูญในสภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง มันก็ไม่มีความหมาย