‘โควิด’ ไม่ ‘หายสนิท’

การตัดสินใจเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี มีนักท่องเที่ยวอุ่นหนาฝาคั่งและในกรุงเทพฯ เอง ก็สังเกตเห็นได้ว่า รถเริ่มกลับมาติดอีกครั้งแล้ว


การตัดสินใจเปิดประเทศอย่างกล้าหาญของนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกฮึกเหิมและเคลิบเคลิ้มใจเป็นอันมากว่าโควิดเริ่มซาลงแล้ว และได้เห็นข่าวตามเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ มีนักท่องเที่ยวอุ่นหนาฝาคั่งและในกรุงเทพฯ เอง ก็สังเกตเห็นได้ว่า รถเริ่มกลับมาติดอีกครั้งแล้ว

ด้วยความที่มันอัดอั้นและกดดันมานาน จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนเริ่ม “เลิกกลัว” โควิดกัน แต่ถ้าไม่หลอกตัวเองกันจนเกินไป ถ้าดูกันให้ดี ๆ นับตั้งแต่วันที่นายกฯ ประกาศเปิดประเทศ ยอดผู้ติดเชื้อยังยืนหมื่นกว่าคนอยู่ทุกวัน ยกเว้นบางวัน (ซึ่งน้อยมาก) ที่ต่ำกว่าหมื่น ส่วนยอดผู้เสียชีวิตอาจจะลดลงมากกว่า จนบางวันเหลือต่ำกว่าร้อยคน แต่ก็ยังไม่นิ่งเสียทีเดียว

หากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่และเสียชีวิต มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ตลอดไปจนถึงเดือนหน้าที่เราจะเปิดประเทศอย่างเต็มตัว ก็คงต้องร้องสาธุ และไชโย ขอให้เป็นเช่นนั้นตลอดไป

อย่างไรก็ดี อยากจะแตะเบรกเบา ๆ และให้ทุกท่านลองพิจารณาให้ดีว่า จริง ๆ แล้ว โรคระบาดที่เรากลัวกันมานานเกือบสองปีเต็ม มันซาลงแล้วจริง ๆ หรือ

มีข้อมูลล่าสุดที่น่าตกใจไม่น้อยจากอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าควบคุมการระบาดได้ดีและฉีดวัคซีนได้เร็ว โดยในวันจันทร์ที่ผ่านมา กลับมามีผู้ติดเชื้อใหม่ ถึง 49,156 คน สูงสุดในรอบ 3 เดือน นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 45 รายภายใน 28 วันหลังผลตรวจเป็นบวก ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวม 138,629 คน โดยเป็นหนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดในโลก

ในขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่เราควรรับรู้ และเตือนสติตัวเองว่า ถึงแม้จะมีวัคซีน และมีการรักษาให้หายได้ แต่ ก็ใช่ว่า จะ “หายสนิท” ไปเลย

ในขณะนี้ องค์การอนามัยโลกได้นิยามภาวะหลังเกิดโควิด (Post Covid-19 condition) อย่างเป็นทางการว่า “Long Covid”

ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่มักมีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ และหายใจลำบาก และจะหายเป็นปกติภายในสองสามวันหรือหลายสัปดาห์  อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคน อาการอาจยาวนานกว่านั้นมากโดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่า ผู้ป่วยโควิด 10-20% ยังคงมีอาการต่าง ๆ อยู่หลายเดือนหลังการติดเชื้อ

อาการยืดเยื้อที่ว่า ได้แก่ อ่อนเพลียต่อเนื่อง หอบหรือ หายใจไม่สุด สมองล้า (Brain fog) และมีภาวะซึมเศร้า

โดยปกติมักเกิดขึ้น 3 เดือนนับจากเริ่มติด และ มีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 เดือนและไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยทางเลือกอื่น

อาการทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า หายใจลำบาก ความผิดปกติของการรับรู้ และรวมถึงอาการอื่น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปมีผลกระทบต่อการทำงานในแต่ละวัน อาจเริ่มต้นขึ้นใหม่ หลังการฟื้นตัวครั้งแรกจากการติดโควิด-19 แบบเฉียบพลัน หรือยังคงมีอยู่ตั้งแต่เริ่มป่วย อาการอาจผันผวนหรือกำเริบเมื่อเวลาผ่านไป

องค์การอนามัยโลกต้องใช้เวลานาน กว่าจะได้นิยามอย่างเป็นทางการของอาการ Long Covid เนื่องจากมีอาการที่เชื่อมโยงกันมากที่เกี่ยวข้องกับอาการที่กล่าวมาข้างต้น

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมชี้ว่า ประชาชนประมาณ 970,000 คน หรือ 1.5% ของประชากร ได้รายงานตัวเองว่าเป็น Long Covid

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่า ภาวะเหล่านี้ เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างชัดเจน เนื่องจากมีผลกระทบอย่างมากต่อสังคม ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพในการทำงาน

ดร.ไมค์ ไรอัน กรรมการบริหารโครงการสุขภาพฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับองค์การอนามัยโลก และยังต้องเฝ้าระวัง เพราะการรระบาดยังไม่จบและจะทำให้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่อไป และที่สำคัญจะทำให้เกิดผลที่ตามมาในระยะยาวแก่คนทั่วโลก โดยเตือนว่า ภายใต้ตัวเลขที่ลดลงที่เราได้เห็นนั้น มันปิดบังปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีแนวทางการรักษาหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้ป่วย Long Covid และบทบรรณาธิการของ The Lancet เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พูดถึง Long Covid ว่า เป็น “ความท้าทายทางการแพทย์สมัยใหม่ในลำดับแรก”

ใครที่เชื่อว่าโควิดเริ่มลดลงแล้ว และมีคนรักษาหายกลับบ้านกันไปเยอะ ก็น่าจะลองคิดใหม่ และรอฟังข้อมูลเพิ่มว่า มันจะ “หายสนิท” จริงหรือไม่ บางทีการอดทนรอดูอีกนิดว่าการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนหน้า จะคุมการระบาดได้ตามที่วาดฝันได้จริงหรือไม่  ก็น่าจะปลอดภัยกว่าที่จะรีบผลีผลาม และออกไปไหนต่อไหนโดยไม่ตั้งการ์ดอีกต่อไป

Back to top button