11 หุ้นร้อน! รีเทิร์น 9 เดือนเกิน 50%

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลการซื้อขายหุ้นในช่ว 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.58) พบว่ายังมีหุ้นน่าสนใจและให้รีเทิร์นเกิน 50% อยู่ 11 ตัวซึ่งมีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าตลาดโดยรวมและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการลงทุนในช่วงเวลาที่เหลือของปี


หลังจากที่ได้นำเสนอข้อมูลหุ้นที่ให้รีเทิร์นสูง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.58) ชุดแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (คลิกเพื่ออ่านข่าวหุ้น 9 เดือน รีเทิร์นเกิน 100%“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลการซื้อขายหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่ายังมีหุ้นน่าสนใจและให้รีเทิร์นเกิน 50% อยู่ 11 ตัวซึ่งมีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าตลาดโดยรวมและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการลงทุนในช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

 

หุ้น เปิด สูงสุด ต่ำสุด ปิด เปลี่ยนแปลง % เปลี่ยนแปลง
KC 1.60 11.80 1.58 3.06 1.51 91.25
MCS 5.35 10.80 5.35 9.80 4.45 83.18
VNG 7.55 14.40 7.20 13.70 6.15 81.46
UNIQ 11.60 20.80 11.50 20.00 8.50 72.41
KCE 34.00 59.00 31.75 56.00 21.75 64.71
ASIMAR 1.80 4.14 1.79 2.94 1.14 63.33
BRR 7.55 14.20 7.50 12.20 4.65 61.59
BH 137.00 260.00 137.00 216.00 75.00 57.66
CWT 2.00 7.40 2.00 3.14 1.08 57.00
FANCY 2.00 5.35 1.97 3.08 1.06 54.00
SAMCO 2.86 8.15 2.78 4.30 1.40 50.35

*ข้อมูลราคาเปิดตลาด ณ วันที่ 5 ม.ค.58 และปิดตลาด ณ วันที่ 30 ก.ย.58

 

อันดับที่ 1 บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในลักษณะ โครงการบ้านเดี่ยวทาวน์เฮ้าส์ และรับจ้างก่อสร้างบ้าน ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 91% ปิดที่ 3.06 บาท

ผู้บริหาร KC คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 58 จะพลิกมีกำไรสุทธิได้ หลังไตรมาส 2 ปี 58 มีผลขาดทุนสุทธิ 11 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 9.36 ล้านบาท ขณะที่เชื่อว่าจะสามารถมีกำไรต่อเนื่องถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หลังมีการเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารใหม่ โดยได้จัดทำแผนธุรกิจฉบับใหม่ พร้อมเตรียมลงทุนขนาดใหญ่เพื่อรับรู้รายได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงอาจขายบางโครงการเก่าที่มีปัญหาและไม่ได้สร้างผลประโยชน์

ขณะที่ราคาหุ้น KC ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 2.90 บาท ลบ 0.06 บาท หรือ 2.03% สูงสุดที่ 2.98 บาท ต่ำสุดที่ 2.90 บาท มูลค่าซื้อขาย 12.54 ล้านบาท

 

อันดับที่ 2 บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS ผู้ผลิตและติดตั้งโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ (Fabricated Steel) โดยเฉพาะโครงสร้างเหล็กที่เป็นคาน (Beam) และเสา (Column Box) ที่มีความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้ดี เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 83% ปิดที่ 9.80 บาท

บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุว่าจุดเด่นของ MCS คือผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 58 ที่จะประกาศออกมาน่าจะร้อนแรงด้วยยอดขายที่สูง ขณะที่ backlog สูงถึง 2 แสนตันส่งไปญี่ปุ่น รองรับรายได้ถึง 3 ปี โดยคาดว่ากำไรปี 58 อาจจะไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท และมี EPS ระดับ 1.30 บาท หากให้PE เพียง 10 เท่าจะมีเป้าเหมาะสม 13 บาทเป็นอย่างน้อย ขณะที่พิจารณาจากผลประกอบการที่เติบโตเชื่อว่าราคาหุ้นไม่ควรจะน้อยกว่า 15 บาทในปีหน้า จัดเป็นหุ้น  high growth ตัวหนึ่งที่ควรสะสม

ขณะที่ราคาหุ้น MCS ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 11.50 บาท บวก 0.50 หรือ 4.55% สูงสุดที่ 11.60 บาท ต่ำสุดที่ 11.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 254.35 ล้านบาท

 

อันดับที่ 3 บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นไม้ (Panel Board) เพื่อใช้ทดแทนไม้ธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 81% ปิดที่ 13.70 บาท

บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2558 ของ VNG จะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง แม้ไตรมาส 4 ปี 2558 จะชะลอตัวตามฤดูกาล โดยรวมกำไรทั้งปีนี้ คาดโตก้าวกระโดด 95% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน มาจากทั้งรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นที่ทำ New high และประโยชน์ทางภาษีที่ทำให้เสียภาษีต่ำไปถึงกลางปีหน้า (ขึ้นกับกำไร) คาดกำไรปีหน้าโตต่อ 9% ราคาเป้าหมายปีหน้า 17 บาทอิง PE 17 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ยของผู้ผลิตไม้บอร์ดทั่วโลก ทั้งที่ Margin ของ VNG ดีกว่า แนะนำซื้อ

ขณะที่ราคาหุ้น VNG ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 15.80 บาท ลบ 0.20 บาท หรือ 1.25% สูงสุดที่ 16.10 บาท ต่ำสุดที่ 15.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 182.42 ล้านบาท

 

อันดับที่ 4 บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ผู้ให้บริการรับเหมาก่อสร้างครบวงจรทั้งงานออกแบบและงานก่อสร้าง มุ่งเน้นที่งานสาธารณูปโภคขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากนั้นมีธุรกิจพัฒนาที่ดินและก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายโดยเน้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น72% ปิดที่ 20.00 บาท

บล.ไอร่า ระบุว่า UNIQ เป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่มีโอกาสรับงานเพิ่มจากการเร่งรัดเปิดประมูลโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ขณะที่ Backlog ล่าสุดทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์รวมถึงผลการดำเนินงานเติบโตในระดับที่ดี โดยเฉพาะความสามารถทำกำไรที่มี Gross Profit Margin โดดเด่นสุดในกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการเปิดประมูลโครงการของภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณงานก่อสร้างใหม่ๆ ที่จะเข้ามาใน Backlog และอาจทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการรับรู้รายได้ รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้าง และอาจทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้

ทั้งนี้แนะนำ “ซื้อ” UNIQ ประเมินราคาเป้าหมายปี 2559 ที่ 24.40 บาท อิง PE25 เท่าเป็นระดับ Conservative เมื่อเทียบกับ PE เฉลี่ย 30 เท่าที่ซื้อขายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็น

ขณะที่ราคาหุ้น UNIQ ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 22.00 บาท บวก 0.90 หรือ 4.27% สูงสุดที่ 22.10 บาท ต่ำสุดที่ 21.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 518.58 ล้านบาท

 

อันดับที่ 5 บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนพื้นฐานสำคัญในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 64% ปิดที่ 56.00 บาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดการผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2558 เดินหน้าทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง โดยยังคงประมาณการของเราและราคาเป้าหมายปี 2559 ที่ 69 บาทต่อหุ้น อิง PE 14 เท่า การกระจายความเสี่ยงที่มากเพียงพอ และตลาด automotive ที่ยังดีน่าจะช่วยหนุนการเติบโตให้ได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม แนะนำให้นักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากปัญหาลุกลามถึงระดับ industry จะมีผลกระทบที่เป็นลบมากกว่าคาดได้ คงคำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายปี 2559 ที่ 69 บาท

ขณะที่ราคาหุ้น KCE ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 58.25 บาท ลบ 3.25 บาท หรือ 5.28% สูงสุดที่ 64.00 บาท ต่ำสุดที่ 57.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 437.87 ล้านบาท

 

อันดับที่ 6 บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASIMAR ผู้ให้บริการซ่อมเรือและต่อเรือ รวมถึงกิจการก่อสร้างงานด้านวิศวกรรมอื่นๆ เช่น งานโครงสร้างเหล็กทางเดินผู้โดยสารสนามบิน การสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมัน ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 63% ปิดที่ 2.94 บาท

ผู้บริหาร ASIMAR ระบุว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2558 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี จากไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งมีกำไรสุทธิที่ 22.72 ล้านบาท ขณะที่บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ เป็นงานต่อเรือ 2 โครงการซึ่งจะทยอยส่งมอบภายในปี 2558 นี้ และจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากงานต่อเรือลากจูงของท่าเรือ สีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา จำนวน 1 ลำ เป็นโครงการ 18 เดือน มูลค่างาน 6.30 ล้านดอลลาร์

ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างเข้าประมูลงานทั้งงานต่อเรือของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), งานต่อเรือเอกชนในและนอกประเทศ และงานดัดแปลงเรือมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดธุรกิจทั้งในประเทศ และแถบ AEC เป็นการเจรจาเพื่อขอร่วมทุนทางธุรกิจกับบริษัทหลายราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป

ขณะที่ราคาหุ้น ASIMAR ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 3.22 บาท บวก 0.60 หรือ 1.90% สูงสุดที่ 3.32 บาท ต่ำสุดที่ 3.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 79.14 ล้านบาท

 

อันดับที่ 7 บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยลงทุนในบริษัทย่อยที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 5 บริษัทที่มีธุรกิจหลักเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 61% ปิดที่ 12.20 บาท

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า BRR ได้รับผลดีจากราคาน้ำตาลโลกดีดตัวขึ้นต่อเนื่อง คาดกำไรสุทธิปี 2558 เติบโตมากถึง 99.2% มาที่ระดับ 470 ล้านบาท (บันทึกกำไรโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการที่ 2 เต็มไตรมาสในครึ่งหลังปี 2558ฉ และจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2559 ที่ 45% จากการขยายกำลังการผลิต 35% แนวโน้มกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 27.5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่บริษัทตั้งเป้าลงทุนสร้างโรงงานผลิตเอทานอลร่วมกับ Partner 2 ราย กำลังผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน คาดมีความชัดเจนมากขึ้นใน ไตรมาส4 ปี 2558 มูลค่าเหมาะสมปี 2559 ที่ 14.80 บาท

ขณะที่ราคาหุ้น BRR ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 14.00 บาท บวก 0.60 หรือ 4.48% สูงสุดที่ 14.20 บาท ต่ำสุดที่ 13.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 272.83 ล้านบาท

 

อันดับที่ 8 บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยลงทุนในบริษัทย่อยที่ถือหุ้นร้อยละ 100 จำนวน 5 บริษัทที่มีธุรกิจหลักเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 57% ปิดที่ 216 บาท

ผู้บริหาร BH มั่นใจรายได้ปี 2558 จะเติบโต 10-15% จากปีก่อนที่ 1.59 พันล้านบาท โดยภายในครึ่งแรกมีรายได้แล้วจำนวน 8.9 พันล้านบาท แม้ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาเชื้อไวรัสเมอร์ส และเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ แต่ปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น วางแผน 3-5 ปี ใช้งบลงทุน 11,000 ล้านบาท คาดโรงพยาบาลแห่งที่ 2 เริ่มก่อสร้างปี 2559 พร้อมตั้งศูนย์วิจัยในอาเซียน-ตะวันออกกลาง

ขณะที่ราคาหุ้น BRR ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 235.00 บาท บวก 3.00 หรือ 1.29% สูงสุดที่ 235.00 บาท ต่ำสุดที่ 229.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 277.34 ล้านบาท

 

อันดับที่ 9 บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ฟอก และบริการฟอกหนัง, ผลิตภัณฑ์ของเล่นสัตว์เลี้ยง, ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์หนัง และผลิตภัณฑ์เบาะหนังและชิ้นส่วนหนังสำหรับรถยนต์ ราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 57% ปิดที่ 3.14 บาท

ผู้บริหาร CWT คาดไตรมาส 3/2558 พลิกเป็นกำไร จากไตรมาส 3/2557 ที่ขาดทุนราว 1.73 ล้านบาท หลังมีงานในมือที่รอส่งมอบเป็นจำนวนมาก ขณะที่รายได้ปีนี้เชื่อว่าจะเป็นตามเป้าที่ 1.2 พันล้านบาท จากทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังได้รับงานในกลุ่มเครื่องหนังเพิ่มด้วย

ขณะที่ราคาหุ้น CWT ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 3.08 บาท ลบ 0.04 บาท หรือ 1.28% สูงสุดที่ 3.14 บาท ต่ำสุดที่ 3.06 บาท มูลค่าซื้อขาย 2.29 ล้านบาท

 

อันดับที่ 10 บริษัท แฟนซีวู๊ด อินดัสตรีส จำกัด (มหาชน) หรือ FANCY ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้และแปรรูปไม้ยางพาราราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 54% ปิดที่ 3.08 บาท

บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุว่า FANCY มีข่าวว่าว่าจะถูก backdoor มาแล้ว 2-3 ครั้งในรอบปี ประเมินจากงบการเงิน ด้านธุรกิจนั้นค้าขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารากำไรลดลงเรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ถือหุ้นใหญ่รวมกันเกินครึ่งทำให้การเจรจาซื้อหุ้นกับรายใหญ่ทำได้โดยง่าย

นอกจากนี้งบดุลยังมีคุณสมบัติที่ดีเนื่องจากไม่มีหนี้สิน มีส่วนเกินมูลค่าหุ้นและกำไรสะสมรวมกันกว่า 750 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นไม่มาก และสินทรัพย์เพียง 1.2 พันล้านบาท ทุนต่ำ หนี้ไม่มี หุ้นน้อย งบสวย ธุรกิจไม่ค่อยโต ขณะที่เจ้าของลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเรื่อยๆ เหมือนว่าจะมีกลุ่มใหม่เข้ามารับช่วงหุ้นต่อ วิเคราะห์จากงบการเงินจึงเชื่อว่ามีโอกาสโดน backdoor อย่างมาก

ขณะที่ราคาหุ้น FANCY ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 3.02 บาท ลบ 0.06 บาท หรือ 1.95% สูงสุดที่ 3.10 บาท ต่ำสุดที่ 3.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 2.16 ล้านบาท

 

อันดับที่ 11 บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) หรือ SAMCO พัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเน้นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในลักษณะของหมู่บ้านจัดสรร พร้อมทั้งการให้บริการบำรุงรักษาโครงการภายหลังการขายราคา 9 เดือนแรกของปี 58 ปรับตัวขึ้น 57% ปิดที่ 3.14 บาท

ผู้บริหาร SAMCO คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2558 จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ที่ มีกำไรสุทธิ 5 ล้านบาท โดยจากการรับรู้ยอดโอนคอนโด S9 ในไตรมาส 3 ปี 2558 ประมาณ 120 ล้านบาท และคาดว่าจะทยอยโอนในไตรมาส 4 ปี 2558 อีกประมาณ 500 ล้านบาท ขณะที่อนาคตมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตแตะระดับ 4 พันล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) เป็นโครงการแนวราบ 250 ล้านบาท คาดว่าจะโอนในปีนี้เช่นกั นส่งผลให้รายได้ปี 2558 จะเติบโตตามเป้าที่ 1,800 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 56% จากปี 2557 ที่มีรายได้ 1,150 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จากภาครัฐฯจะถูกผลักดันทันในช่วงส่งท้ายปี 2558  เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้กลับฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนกระแสข่าวลือการร่วมทุนโครงการขนาดใหญ่ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งแผนงานของบริษัทยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ราคาหุ้น SAMCO ปิดวานนี้ (12 ต.ค.) ที่ 4.46 บาท บวก 0.10 หรือ 2.29% สูงสุดที่ 4.54 บาท ต่ำสุดที่ 4.38 บาท มูลค่าซื้อขาย 55.11 ล้านบาท

 

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสในการลงทุนหุ้นรายตัวซึ่งให้ผลตอบแทนน่าสนใจ อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย

*อนึ่ง ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่านไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตามล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button