รมว.คลัง ชี้รัฐมุ่งเน้น 5 แนวทาง ฟื้นฟูศก. หลังโควิดคลี่คลาย จ่อดัน GDP ปี 65 โต 4-5%

รมว.คลัง ชี้รัฐบาลมุ่งเน้น 5 แนวทางหลัก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย หวังในปี 65 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่าเดิม หรือขยายตัวในช่วง 4-5% ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายลง


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษในการประชุม The Committee on Macroeconomic Policy, Poverty Reduction and Financing for Development ครั้งที่ 3 ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) โดยกล่าวถึงบทบาทของของกระทรวงการคลังในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ 5 แนวทางหลักในการสนับสนุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และจัดสรรเงินทุนที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขและบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่ประชาชน แรงงาน และผู้ประกอบธุรกิจ

โดยรัฐบาลได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องออกจากงานอย่างกะทันหัน หรือถูกลดค่าจ้างลง โดยผ่านโครงการให้เงินช่วยเหลือเยียวยา ในขณะเดียวกัน โครงการอื่นๆ ของรัฐบาลอย่างโครงการคนละครึ่ง และการลดภาษีได้ช่วยรักษาระดับการบริโภคในประเทศ รวมถึงรัฐบาลได้รักษาระดับการจ้างงานผ่านโครงการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง และการดำเนินมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของรัฐบาลจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

อีกทั้งรัฐบาลได้มีการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ควบคู่กับการวางรากฐานสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ในอนาคตไวรัสโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) และผู้คนต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันในรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) เชื้อไวรัสอาจไม่ถูกกำจัดไป แต่สุดท้ายเราจะสามารถควบคุมได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงมุ่งเน้น 5 แนวทางหลักเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ดังนี้

สำหรับแนวทางแรก นโยบายทางการเงินเพื่อเยียวยาและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพื่อให้สามารถฟื้นตัวอย่างมั่นคง อาทิ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ถัดมาแนวทางที่สอง การบริหารเศรษฐกิจระดับมหภาค โดยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลัง การบริหารระดับหนี้สาธารณะ ตลอดจนถึงการปรับปรุงระบบการเก็บภาษี และการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ขณะที่แนวทางที่สาม การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการปรับปรุงระบบสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของผู้คน และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

นอกจากนี้แนวทางที่สี่ การสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่มั่นคง โดยประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึง ทั้งแบบสมัครใจและมีส่วนร่วม อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ และกองทุนการออมแห่งชาติ

ส่วนแนวทางที่ห้า รัฐบาลได้วางแผนที่จะเปิดประเทศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 ประเทศไทยจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นลบ โดยต้องทำการตรวจเชื้อก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และจะได้รับการตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย

อีกทั้งนายอาคม กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มช่วงนี้ รัฐบาลคาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกได้ โดยภาคการส่งออกสินค้าจะเป็นกุญแจขับเคลื่อนที่สำคัญ ส่วนในปี 2565 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่าเดิม หรือขยายตัวในช่วง 4-5% ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายลง

สำหรับนโยบายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่ 4 แนวทาง ดังนี้

1.การส่งเสริม Bio-Circular-Green Economy model หรือ BCG model ซึ่งรูปแบบทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้จะให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างสินค้าที่มีมูลค่าสูง คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการไปบ้างแล้ว อาทิ การออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมและเพื่อความยั่งยืน การส่งเสริมการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 และในต้นปีนี้ รัฐบาลได้ประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน และได้รับการจดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก

2.การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาผลิตภาพทางการผลิตของประเทศ

3.การปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitalization) เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งภาคส่วนเอกชนและรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีทางดิจิทัลมาปรับใช้ โดยทางรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วยบริการยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ และการทำธุรกรรมออนไลน์กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดต้นทุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมเงินสด

4.รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในระบบขนส่งมวลชน และพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด รวมถึงสนับสนุนผู้ผลิตพลังงานรายย่อย และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ นวัตกรรมการจัดหาเงินทุนก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยอาจเริ่มจากการสนับสนุนให้เกิดการระดมทุนในโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง คณะที่ปรึกษาหารือด้านการจัดหาทุน (A consultative group in financing) อาจจะสามารถจะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ

Back to top button