ส่อง 3 หุ้นจิ๋ว “ราคาต่ำบาท” วอลุ่มไหลเข้า ชูปีนี้กำไรแกร่ง!
ส่อง 3 หุ้นจิ๋ว RML, PPS, CCP ราคาต่ำบาท มีแนวโน้มพื้นฐานฟื้นตัวแกร่ง อีกทั้งวอลุ่มเทรดยังหนาแน่นหลายเท่าตัวจากปีก่อน และยังมี Valuation อยู่ในระดับที่ดี
ตลาดหุ้นไทยตลอดช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นห้วงนาทีทองของหุ้นขนาดเล็กอย่างแท้จริง โดยเฉพาะบรรดาหุ้นราคาต่ำบาท ซึ่งพากันปรับตัวขึ้นถ้วนหน้า
มีการประเมินว่า นักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่ที่ดาหน้าเข้ามาในตลาดจำนวนมากขึ้น เป็นองค์ประกอบสำคัญในปรากฏการณ์ดังกล่าว เนื่องจากหุ้นขนาดเล็กมักเป็นเป้าหมายเพื่อเก็งกำไรท่ามกลางสภาวะตลาดขาขึ้น ซึ่งปัจจัยกระตุ้นหลัก คือ ใช้เงินลงทุน (หรือหลายครั้งเรียกว่าใช้เงินเสี่ยงดวง) น้อย
หุ้นต่ำบาทที่เฮโรพุ่งพรวดพราดขึ้นมาส่วนใหญ่ ยังมีปัจจัยพื้นฐานติดลบจากการประสบผล “ขาดทุน” ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ นับเป็นความเสี่ยงระดับสูง สามารถสะท้อนได้จากหลายหุ้นที่ราคาอยู่ๆ เคยขึ้นทะลุหลัก 1 บาทอย่างรวดเร็ว แต่ก็เอวังด้วยการกลับมาเป็น “หุ้นไม่เต็มบาท” (ตามฟอร์ม!!)
อย่างไรก็ดี ปลาเน่าหนึ่งตัว หรือบางครั้งหลายตัว ก็ไม่ได้ทำให้ปลาทั้งเข่งต้องเน่าตามด้วยเสมอไป
จากการสำรวจ พบว่าในจักรวาลของหุ้นไม่เต็มบาทเหล่านี้ ยังมีหุ้นของ 3 บริษัทที่น่าจับตา และมีทรงมวยของราคาที่ขึ้นมาว่า เป็นไปตามพื้นฐานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แถมยังมีตัวเลขซึ่งบ่งชี้ถึงการมีสิ่งที่เรียกว่า “แวลูเอชั่น (Valuation)” อยู่ในเกณฑ์ดี
เช่น…..
บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML ซึ่งพลิกมีกำไรงวด 6 เดือนแรกปี 2564 ที่ระดับ 104.03 ล้านบาท เทียบกับงวด 6 เดือนของปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 265.11 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องถึง 718.30 ล้านบาทตลอดทั้งปีดังกล่าว
ก็ถือเป็นการกลับมาได้อย่างเหนือความคาดหมาย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาและถดถอย อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ราคาหุ้น RML ล่าสุด ณ วันที่ 21 ต.ค. (2564) ปิดที่ระดับ 0.98 บาท บวกจากวันทำการก่อนหน้าขึ้นมาราว 3.16% ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับราคาหุ้น ณ สิ้นปี 2563 ที่ระดับ 0.64 บาท ถือว่าปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 53.13%
กระนั้น ราคาในปัจจุบันก็ยังซื้อขายที่ระดับต่ำบุ๊ค โดยมีค่า P/BV อยู่ที่เพียง 0.80 เท่า หรือต่ำกว่าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.36 เท่า และต่ำกว่า SET Index ที่ 1.77 เท่า
พร้อมกับมี “วอลุ่มเทรดต่อวันเฉลี่ย” ในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 3.89 ล้านบาท มาเป็น 23.78 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มสำหรับช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงสดใสต่อเนื่อง…
นายกรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RML กล่าวแสดงความมั่นใจว่า รายได้ปีนี้จะเข้าเป้าที่ 2,700 ล้านบาทอย่างแน่นอน โดยสามารถทำได้แล้ว 2,010 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก
แถมมีแบ็คล็อกรอรับรู้รายได้อีกราว 5,700 ล้านบาท สินค้ารอการขาย (Inventory) กว่า 8,000 ล้านบาท และพร้อมเดินหน้าเปิดตัวอีก 3 โครงการใหม่ มูลค่ารวมถึง 2 หมื่นล้านบาทด้วย
บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PPS แม้กำไรครึ่งแรกปี 2564 จะยังคงขาดทุนสุทธิ 1.33 ล้านบาท แต่ว่าเป็นการขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิราว 19.90 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตขึ้นมา 93.32%
สิ่งสำคัญจากกำไรลดลงเหลือขาดทุนเล็กน้อยแล้ว บริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้แล้วในช่วงไตรมาส 2/2564 โดยทำกำไรได้ 3.75 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 11.72 ล้านบาท
ดังนั้นหลายฝ่ายมั่นใจว่าปีนี้ PPS บริษัทจะกลับมามีกำไรสุทธิอย่างชัดเจน….
ตามที่ ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้า PPS กล่าวว่าผลงานครึ่งหลังปี 2564 จะเติบโตได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะดีกว่าครึ่งปีแรกอีกด้วย เพราะบริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้อีกเพียบ ด้วยมูลค่ากว่า 436 ล้านบาท พร้อมกับบริษัทยังรอเซ็นงานใหม่อีกกว่า 250 ล้านบาท
โดยปัจจุบันบริษัทมีงานอยู่ในมือ (Backlog) แล้ว เกือบ 700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าทุบสถิติใหม่ที่เคยทำมาก่อน ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ปีนี้กว่า 173 ล้านบาท
อีกทั้งในช่วงที่เหลือของปีบริษัทมีความพร้อมเสนองานภาครัฐและเอกชนเพิ่ม ประกอบด้วยงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนจากลูกค้ารายใหญ่ ทั้งงานอาคารอเนกประสงค์ งานศูนย์บริการด้านสุขภาพ
ทั้งนี้หากผลงานครึ่งปีหลังดีเหมือนที่ผู้บริหาร PPS กล่าวไว้ เชื่อจะได้ลุ้นว่าบริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไร หรือ “เทิร์นอะราวด์” อย่างแน่นอน จากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 26.13 ล้านบาท
ราคาหุ้น PPS ล่าสุด ณ วันที่ 21 ต.ค. (2564) ปิดที่ระดับ 0.85 บาท บวกจากวันทำการก่อนหน้าขึ้นมาราว 3.66% ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับราคาหุ้น ณ สิ้นปี 2563 ที่ระดับ 0.38 บาท ถือว่าปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 123.68%
พร้อมกับ “วอลุ่มเทรดต่อวันเฉลี่ย” ในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 0.45 ล้านบาท มาเป็น 9.80 ล้านบาท
มิหนำซ้ำในปัจจุบันเทรดที่ค่า P/BV ระดับ 2.57 เท่า ต่ำกว่า mai Index ที่อยู่ระดับ 2.91 เท่า
บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP แม้ว่ากำไรงวด 6 เดือนแรกปี 2564 อยู่ที่ 31.09 ล้านบาท ลดลง 45.41% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 56.95 ล้านบาทถือว่าไม่มีเรื่องที่ต้องวิตกกังวลมากนัก เพราะมีคำยืนยั่นของผู้บริหารว่าครึ่งปีหลังฟอร์มดีแน่นอน
นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ CCP กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจช่วงครึ่งหลังปี 2564 ว่าจะเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่บริษัทมีรายได้ 1,302 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 31.09 ล้านบาท โดยเกิดจากการกระตุ้นของดีมานด์คอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินโครงการถนนสายรองเข้าอู่ตะเภา มาบตาพุด โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง งานกรมทางหลวง ได้แก่ งานถนน งานสะพานทั่วประเทศ รวมถึงโครงการ EEC และการลงทุนของภาคเอกชนด้วย
นอกจากนั้น CCP มีการพัฒนาสินค้านวัตกรรมคอนกรีตสำเร็จรูป ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อช่วยลดต้นทุน ในการรองรับงานโครงการภาครัฐและเอกชนได้อย่างหลากหลาย ลุ้นปีนี้รายได้เข้าเป้า 2,600 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2,463 ล้านบาท โดยทำให้ CCP มี “แบ็กล็อก” รอรับรู้รายได้อีกกว่า 1,800 ล้านบาท
ราคาหุ้น CCP ล่าสุดปิด ณ วันที่ 21 ต.ค. 2564 อยู่ที่ 0.66 บาท บวกจากหากนำไปเทียบกับราคาหุ้น ณ สิ้นปี 2563 ที่ระดับ 0.43 บาท ถือว่าปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 53.49%
พร้อมกับ “วอลุ่มเทรดต่อวันเฉลี่ย” ในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 5.38 ล้านบาท มาเป็น 27.44 ล้านบาท
สิ่งสำคัญ CCP มีค่า P/BV ที่ 1.37 เท่า ต่ำกว่ากลุ่ม “อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง” ที่อยู่ระดับ 1.51 เท่า และต่ำกว่า SET Index ที่อยู่ระดับ 1.77 เท่า