PRECHA พุ่งแรง 16% รับอานิสงส์ “ธปท.ผ่อนคลายมาตรการ LTV”
PRECHA พุ่งแรง 16% ขานรับ ธปท. ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เนื่องจากบริษัทประกอบธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่ออยู่อาศัย ทั้งแนวราบและแนวสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (25 ต.ค.2564) ราคาหุ้นบริษัท ปรีชากรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PRECHA ณ เวลา 11:14 น. อยู่ที่ระดับ 1.83 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 15.82% โดยทำจุดสูงสุดที่ 1.96 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 1.56 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 108.10 ล้านบาท
สำหรับหุ้น PRECHA ประกอบธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่ออยู่อาศัย ทั้งแนวราบและแนวสูง ดังนั้นจากราคาหุ้นบนกระดานทะยานปรับตัวขึ้นร้อนแรง เป็นการสะท้อนผลบวกจากประเด็นเมื่อทาง นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ล่าสุด ธปท. ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว มาตรการดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2564 ถึงสิ้นปี 2565 เพื่อช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงาน มองว่าการผ่อนปรน LTV
ครั้งนี้รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในส่วนอื่นจะช่วยให้มีเม็ดเงินใหม่ผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเข้าสู่ระบบในช่วงปี 2565 ถึง 50,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งหรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ซึ่งการปลดล็อกนี้เน้นไปที่กลุ่มบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป
โดยการผ่อนคลายมาตรการ LTV ครั้งนี้ กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว ทั้งกรณีมูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และกรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2564 ถึง 31ธ.ค. 2565 ซึ่งมาตรการนี้รวมถึงบ้านมือสองที่อยู่ในระบบด้วย โดยไม่มีแนวโน้มต่อมาตรการผ่อนปรนนี้หลังสิ้นปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีโอกาสฟื้นตัวได้มากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องต่อมาตรการดังกล่าว
ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีการประเมินในเบื้องต้นว่า ผลจากการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในระยะ 1 ปีกว่าต่อจากนี้ จะทำให้เกิดเม็ดเงินจากการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ราว 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของมูลค่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ราว 8 แสนล้านบาท
โดยการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นปี 65 สอดคล้องกับช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องการแรงสนับสนุน และเป็นช่วงที่ความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการในปี 65 ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่ชัดเจน
นอกจากนี้ เชื่อว่าการผ่อนคลายมาตรการ LTV จะไม่ทำให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแต่ละสถาบันการเงินจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นหลัก และมีความรัดกุมในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้ เน้นให้กลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็ง หรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ออกมาใช้จ่ายมากขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังผ่อนชำระหนี้ จึงไม่น่ากระทบกับความสามารถในการชำระหนี้โดยรวมมากนัก
สำหรับการผ่อนคลายมาตรการ LTV กรณีผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรก ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งกู้ได้ 100% สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าบ้าน เพื่อใช้ในการตกแต่ง ซ่อมแซม หรือต่อเติม ขณะที่ราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้วางดาวน์น้อยลงจาก 20% เป็น 10% ของราคาบ้าน
ส่วนผู้ที่ต้องการกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 กรณีผ่อนชำระมาแล้ว 2 ปี ให้วางเงินดาวน์ 10% แต่หากผ่อนยังไม่ถึง 2 ปี ให้มีการวางดาวน์ 20% สำหรับสัญญาที่ 3 ขึ้นไปให้วางดาวน์ที่ 30% และหากเป็นบ้านเกิน 10 ล้านบาท สัญญาที่ 1 ให้มีการวางดาวน์ที่ 10% สัญญาที่สอง 20% และสัญญาที่ 3 ขึ้นไปให้วางดาวน์ 30%